วันพฤหัสบดีที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558

ค่ายบริการมือถือเอาเปรียบทาสไทยมานาน กรณีปัดเศษวินาที






คนไทยโดนค่ายมือถือเอาเปรียบมานาน  เพราะไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้ จึงเปรียบเสมือนต้องตกเป็นทาสแก่ค่ายมือถือในสภาวะจำยอม (ถ้าเขาไม่เอาเปรียบคนไทยแล้วเขาจะรวยเป็นมหาเศรษฐีได้เร็วเหรอ)

เพราะประเทศไทยมีผู้ประกอบการสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ อยู่เพียง 3 รายเท่านั้น (ตอนหลังเพิ่งมี My ของ CAT เข้ามาแทรก) จึงทำให้ภาวะการแข่งขันค่อนข้างน้อย โอกาสจะฮั้วผลประโยชน์กันของค่ายมือถือจึงมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากกว่า

คือ เบื้องหน้าอาจดูเหมือนพวกเขาจะเป็นคู่แข่งกันในทางธุรกิจ แต่ความจริงต่างร่วมกันฮั้วเอาเปรียบคนไทยมาเนิ่นนาน เช่นเมื่อไม่กี่วันมีข่าวทั้ง 3 ค่ายรีบออกมาฮั้วกันเพื่อกดดันอยากรีบประมูล 4 จีเร็ว ๆ


Dtac AIS True move H จับมือกันเพื่อเร่งให้มีการประมูล 4 G เร็วขึ้น


แต่จะมีคนไทยสักกี่คนที่จะรู้ว่า โทรศัพท์มือถือแบบเติมเงิน มีกฎหมายของ กสทช. กำหนดว่า ห้ามหมดอายุวันใช้งาน มาตั้งแต่ปี 2549 ?? 

ถึงแม้จะมีกฎหมายห้ามหมดอายุวันใช้งาน ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2549 แต่พวกเราก็โดนค่ายมือถือเอาเปรียบเรื่องการหมดอายุวันใช้เงิน หากไม่คอยเติมเงินเรื่อย ๆ มานานถึง 7 ปีเต็ม



ข้อ ๑๑ การใหบริการโทรคมนาคมในลักษณะที่เรียกเก็บคาธรรมเนียมหรือคาบริการเปนการลวงหน้า(ระบบเติมเงิน) จะตองไมมีข้อกําหนดอันมีลักษณะเปนการบังคับใหผูใชบริการตองใชบริการภายในระยะเวลาที่กําหนด(ห้ามหมดอายุวันใช้งาน ตราบใดที่ยังมีเงินเหลือ)เว้นแต่ จะได้รับการอนุญาตจาก กสทช.


ทั้ง ๆ ที่ มีกฎหมายห้ามค่ายมือถือกำหนดอายุวันใช้งานสำหรับผู้ใช้งานระบบเติมเงิน ที่ยังมีเหลืออยู่ แต่ทุกวันนี้เราก็ยังต้องคอยเติมเงินเพื่อเพิ่มวันใช้งานอยู่ตลอดจริงหรือไม่ ?

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ?

ก็เพราะ กสทช. ทำได้แค่ปรับเงินจากผู้ให้บริการสัญญาณมือถือทั้ง 3 ค่าย ที่ละเมิดมาตรา 11 เพียงวันละ 100,000 บาทเท่านั้น  เท่ากับค่ายมือถือก็จ่ายค่าปรับแค่รายละ 36 ล้าน 5 แสนบาทต่อปีเท่านั้น ซึ่งพวกค่ายมือถือเขาก็ยอมจ่ายค่าปรับดีกว่า เพราะว่ามันคุ้ม

แถม กสทช. ก็เพิ่งจะมาเริ่มต้นปรับทั้ง 3 ค่ายที่ละเมิดมาตรา 11 วันละหนึ่งแสนบาท เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2555 นี่เอง (แต่ตั้งแต่กฎหมายประกาศใช้ในกันยายน 2549 จนถึง กรกฎาคม 2555 ไม่เคยโดนปรับ และไม่ปรับย้อนหลัง)

คลิกอ่าน กสทช. สั่งปรับวันละแสน 3 ค่ายมือถือกำหนดหมดอายุวันใช้งาน


ต่อมามีข่าวว่า กสทช. จะเพิ่มโทษค่าปรับต่อวันให้มากขึ้น หากผู้ให้บริการทั้ง 3 ค่ายยังละเมิดมาตรา 11 ต่อไป

แต่สุดท้าย กสทช. กลับไปไกล่เกลี่ยประณีประนอมกับค่ายมือถือทั้ง 3 ค่าย (อาศัยช่องทางในมาตรา11 ที่ระบุว่า เว้นแต่..)  โดยอนุญาตให้ค่ายมือถือยินยอมให้ลูกค้าที่เติมเงินจำนวนเท่าไหร่ก็ได้ ก็จะได้วันใช้งานอย่างน้อย 30 วัน

คลิกอ่านประกาศของ กสทช. เกี่ยวกับเรื่องอนุโลม เรื่องวันหมดอายุการใช้
คลิกอ่านเบื้องลึก ที่ กสทช. ยอมตามคำเรียกร้องของค่ายมือถือ


โอเค อันนี้ผมพอเข้าใจเหตุผลของค่ายมือถือที่ว่า ทำไมยังต้องมีการกำหนดอายุวันใช้งานสำหรับระบบเติมเงินต่อไป

เหตุผลก็คือ ถ้าไม่กำหนดอายุวันใช้งานเลย จะทำให้มีหมายเลขตกค้างที่ไม่ใช้งานในระบบมีมากขึ้นเรื่อย ๆ  เป็นเหตุให้สูญเสียเลขหมายโดยไร้ค่าไร้ประโยชน์จำนวนมาก ซึ่งเป็นผลให้ทางค่ายมือถือจะมีต้นทุนในส่วนนี้สูงขึ้นโดยเปล่าประโยชน์

แต่ผมขอถาม กสทช.ว่า เติมเงินครั้งนึงได้อย่างน้อย 30 วันเนี่ย มันน้อยไปไหมครับ  ทำไมไม่เติมเงินเท่าไหร่ก็ได้ จะได้วันใช้งานอย่างน้อย 3 เดือน ? (ยกตัวอย่าง)

กสทช. เอื้อประโยชน์ให้ค่ายมือถือในเรื่องนี้หรือไม่ ? 

-----------------

ค่ายมือถือปัดเศษวินาทีใช้งานจนเต็มนาที เอาเปรียบผู้บริโภค

แต่นอกจากเรื่อง วันหมดอายุใช้งาน แล้ว ยังมีอีก 2 เรื่องที่คนไทยยังโดนค่ายมือถือเอาเปรียบมานาน คือเรื่อง การปัดเศษวินาทีของเวลาการโทรออก เป็น 1 นาทีเต็ม แล้วคิดเงินเต็มจำนวน 1 นาที

เช่น คุณโทรนาทีละ 1 บาท แต่ถ้าคุณโทรไป 1 นาทีกับ 1 วินาที คุณกลับต้องเสียค่าโทรเท่ากับ 2 นาที หรือ 2 บาทเต็ม ๆ

นี่คือการเอาเปรียบผู้บริโภคที่ค่ายมือถือเอาเปรียบคนไทยมานานแล้ว นานตั้งแต่มีมือถือในเมืองไทยนั่นแหละ ซึ่งถ้าในต่างประเทศเขาจะคิดค่าโทรตามจริงเป็นวินาที

เรื่องนี้ สปช. หรือสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้ร้องขอมาให้ กสทช. ปฏิรูปเรื่องการคิดเวลาของค่ายมือถือ ซึ่งถ้าแก้ไขได้ จะทำให้คนไทยประหยัดค่าโทรในส่วนเกินที่ถูกปัดเศษตรงนี้ถึงเดือนละ 3 พันล้านบาท

ย้ำ !! 3 พันล้านบาท !! (ข้อมูลโดย สปช.)

หรือแปลอีกอย่างคือ ค่ายมือถือจะอดกินเงินจากการปัดเศษวินาทีส่วนเกินฟรี ๆ ถึงเดือนละ 3 พันบาท

----------------

การปัดเศษไบต์ ของโทรศัพท์ที่ใช้อินเตอร์เน็ต

แล้วยังมีอีกเรื่องคือ ค่าบริการอินเตอร์เน็ต ที่ค่ายมือถือเอาเปรียบคนไทย ด้วยการปัดเศษเป็นจำนวนเต็มเช่นกัน ตามข่าวนี้

ลองดูคลิปข่าวแค่ 8 นาที จะเข้าใจง่ายขึ้น



นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภค ให้สัมภาษณ์สดกับ "ไทยพีบีเอส" ว่า แนวทางในการดำเนินการตามข้อเสนอของ สปช. ทำได้ 2 ทาง

1.ขอความร่วมมือ เป็นเรื่องความสมัครใจ
2.ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือ ก็จะเป็นการออกประกาศเพื่อบังคับเป็นกฎหมาย

นพ.ประวิทย์ กล่าวว่า "เวลาเราพูดถึงการคิดค่าโทรเป็นวินาที สมมติเราโทร 1 วิ แต่มีการปรับเป็น 60 วิ เท่ากับคิดเกิน 59 วินาที ความจริงคือมีเรื่องที่รุนแรงกว่านั้น คือการคิดค่าอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ ในหลายโปรโมชันบอกว่าเศษของ 1 เมกกะไบท์ก็ปรับเป็น 1 เมกกะไบท์ หมายความว่า ถ้าเราใช้เศษของ 1 กิโลไบท์ที่เกินมา จะถูกปรับเป็นอีก 1 กิโลไบท์ อันนี้คือการปรับขึ้น 1,000 เท่า ซึ่งรุนแรงกว่าการปรับค่าโทรเป็นวินาที ตรงนี้จะทำให้ประชาชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือได้น้อยลง ต้องรวมอยู่ในเรื่องเดียวกันที่เราจะทำทั้งหมด"

ท้ั้งนี้ นพ.ประวิทย์ กล่าวว่าเข้าใจว่า ทาง สปช. เอง จะมีการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปด้านการคุ้มครองผู้บริโภควันที่ 5 ม.ค.58 ทาง กสทช. รับลูกโดยการตั้งคณะกรรมการแล้ว ขณะนี้อยากให้ทาง สปช. ตกผลึกและส่งมติมา และทาง กสทช.จะได้รับไปเจรจากับผู้ประกอบการได้ เพื่อให้เป็นเอกภาพ

ในส่วนของการศึกษาของทาง กสทช. เอง จะศึกษาในหลายส่วนประกอบกัน ได้แก่
1.ศึกษาในส่วนข้อกฎหมาย ว่าปัจจุบันมีกฎหมายใดให้อำนาจ
2.ผลกระทบหรือประโยชน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบ ที่ สปช. ได้ประมาณการไว้ว่าตก 3,000 ล้านบาทต่อเดือน ข้อมูลจริงเป็นอย่างไร
3.มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไหม

ทั้งนี้กล่าวเบื้องต้นได้ว่า ถ้ากลับมาคิดค่าโทรเป็นวินาที ไม่ใช่ว่าบริษัทจะมีกำไรลดลง บริษัทจะปรับแพคเกจ โปรโมชัน ให้ตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด

เช่นที่ผ่านมา เคยมีการร้องเรียนว่าใช้โปรโมชันแบบบุฟเฟท์ได้ 500 นาที ประชาชนบอกจับเวลา 400 นาที แต่บริษัทบอก 700 นาที ตรงนี้ส่วนที่เกินคือส่วนที่คิดค่าโทรปัดเศษวินาที ทำให้ผู้บริโภคได้รับสิทธิไม่เต็มแพคเกจจริง

นพ.ประวิทย์ กล่าวอีกว่า ในกรณีที่ร้องเรียน เอาใบแจ้งยอดมาดูแล้ว ทางบริษัทก็มีตัวเลขทั้งหมด มียอดทั้งโทรจริงเป็นวินาที และยอดที่ปัดขึ้น ทางอุตสาหกรรมจึงไม่ได้กระทบอะไร เพราะมีตัวเลขข้อมูลทั้งสองเลขอยู่แล้ว เพียงแต่ให้คิดความจริงเป็นวินาที

"เดิมเคยมีบริษัทหนึ่งโปรโมชันว่าคิดค่าโทรเป็นวินาที แต่หลังจากนั้นทางคณะกรรมาธิการได้เรียกไปคุย เขาบอกว่าเลิกไปแล้ว เพราะบริษัทอื่นไม่ทำ เขาเสียเปรียบ"

กทสช. อยากให้มีการกำหนดราคาที่เป็นธรรม โดยหลักถ้าทุกบริษัทปรับมาตรฐานการให้บริการ ก็ไม่ต้องออกกฎหมาย กฎหมายจะใช้เมื่อเอกชนฝ่าฝืน ไม่ทำตามจึงจะต้องออกประกาศ ซึ่งเมืองไทยจะแตกต่างกับต่างประเทศ

ในต่างประเทศมีการแข่งขัน เพราะผู้บริการมือถือมีมากกว่า ผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ตก็มีมากกว่า ก็เกิดการแข่งขันกันเองโดยไม่ต้องควบคุม แต่ไทยเป็นระบบผูกขาด การแข่งขันไม่เกิดขึ้นจริง กสทช. เลยต้องมากำกับดูแลเอง

ที่มาข่าวไทยพีบีเอส

-----------------

สรุปท้ายบทความ

เรื่องการปัดเศษวินาทีและการปัดเศษไบต์  แทนที่ กสทช. จะเร่งรีบดำเนินการเองแต่แรก กลับกลายเป็น สปช. เป็นฝ่ายร้องเรียนเข้ามา นี่ถือว่าเป็นความบกพร่องของ กสทช. หรือไม่ ?

รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยที่ผ่าน ๆ มา มักได้รับการสนับสนุนเงินทุนพรรคการเมืองจากนายทุนเจ้าของค่ายมือถือทุกค่าย เป็นเหตุให้ไม่มีรัฐบาลไหนในระบอบประชาธิปไตยสนใจจะแก้ปัญหาการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างจริงจัง

อย่างเช่นเมื่อเดือนสิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา ผมก็เคยเขียนบทความจากการที่สำนักข่าวไทยและไทยพีบีเอส ได้รายงานว่า คลื่น 3 จีไทยห่วยกว่าและแพงกว่าเขมร และคนไทยโดนเอาเปรียบจากการที่หมดโปร ความเร็วเน็ตจะตกลงอย่างมากทันที ทั้ง ๆ ที่กฎหมาย กสทช. ได้กำหนดว่า ต้องมีความเร็วขั้นต่ำเท่าไหร่

เห็นรึยังครับว่า ประชาธิปไตยไทยที่ผ่านมา มันยังเป็นประชาธิปไตยที่รับใช้พวกนายทุน

ถึงเวลาคนไทยต้องปลดแอกจากการเป็นเบี้ยล่างของค่ายมือถือได้แล้ว 

คลิกอ่าน นางสารี อ่องสมหวัง ประธานคณะกรรมาธอการคุ้มครองผู้บริโภค อภิปรายเรื่อง ค่ายมือถือเอาเปรียบผู้บริโภค

คลิกอ่าน 3 จีไทยตำกว่ามาตรฐานโลก 6 เท่า แถมห่วยกว่า และแพงกว่า 3 จีเขมร


อัพเดทข่าวล่าสุด ในวันที่ 7 ม.ค. 58







1 ความคิดเห็น:

  1. เห็นด้วยค่ะ
    ดิฉันให้กำลังใจเจ้าของบล็อก และ จะติดตามนะคะ

    ตอบลบ