วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ลำดับสืบราชสันตติวงศ์ กว่าที่พระองค์เจ้าอานันทมหิดล จะขึ้นเป็นรัชกาลที่ 8






ขอเริ่มต้นเล่าที่ รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระอัครมเหสีทั้งหมด 4 พระองค์ คือ

1. พระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์ หรือ พระนางเรือล่ม (ระดับพระบรมราชเทวี ใน ร.5)


2. พระองค์เจ้าหญิงสว่างวัฒนา (ระดับพระบรมราชเทวีใน ร.5) หรือ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเป็นพระราชมารดาของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร (สยามมกุฏราชกุมาระพระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี) และทรงเป็นสมเด็จย่าแท้ ๆ ของรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 


3. พระองค์เจ้าหญิงเสาวภาผ่องศรี หรือ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถพระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี ในรัชกาลที่ 5) ทรงเป็นพระบรมราชชนนีในรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7

*อัครมเหสีในรัชกาลที่ 5 ลำดับที่ 1 -3 ทรงเป็นพี่น้องร่วมพระอุทร(ท้อง)เดียวกัน เพราะทรงเป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่ 4 กับ เจ้าจอมมารดาเปี่ยม และทรงเป็นอัครมเหสี ระดับพระบรมราชเทวี


4. พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี หรือ สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี (ระดับพระราชเทวี ในร.5) ทรงเป็นพระมารดาของทูลกระหม่อมบริพัตร หรือจอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

แต่อัครมเหสีลำดับ 4 พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี ทรงเป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่ 4 เช่นกัน แต่ต่างพระมารดากับอัครมเหสี 3 ลำดับแรก และทรงเป็นระดับพระราชเทวี เท่านั้น

------------------------

ภายหลังการสวรรคตของสยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรก


สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร


เนื่องจาก รัชกาลที่ 5 ทรงให้ความเท่าเทียมกันกับพระอัครมเหสีทั้ง 3 คนที่เป็นพี่น้องร่วมพระอุทรเดียวกัน คือ พระนางสุนันทาฯ  พระนางสว่างวัฒนาฯ  และพระนางเสาวภาผ่องศรีฯ

เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นพระราชโอรสของรัชกาลที่ 5 กับสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯ ทรงสวรรคตลง


พระนางเจ้าสว่างวัฒนา หรือ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า


ดังนั้นรัชกาลที่ 5 จึงทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระราชโอรสพระองค์โตของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ขึ้นเป็นสยามมกุฏราชกุมาร พระองค์ที่ 2 ของราชวงศ์จักรี แทน

นั่นคือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร หรือรัชกาลที่ 6 ในเวลาต่อมา

--------------------------

เมื่อรัชกาลที่ 6 สวรรคตลง

เมื่อครั้งที่รัชกาลที่ 6 ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ ทรงมีพระอนุชาร่วมพระอุทร เป็นรัชทายาทลำดับที่ 1 คือ สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ


กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระบิดาของพระองค์จุล


เพราะรัชกาลที่ 6 ทรงมีพี่น้องร่วมพระอุทร ทั้งหมดดังนี้

1 สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพาหุรัดมณีมัย (ประสูติเมื่อ 14 ธันวาคม 2421 สิ้นพระชนม์เมื่อ 26 สิงหาคม 2430)
2. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
3. สมเด็จเจ้าฟ้าตรีเพชรุตมธำรง
4. จอมพลสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ (ต้นสกุลจักรพงษ์ ณ อยุธยา)
5. สมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์
6. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง (ประสูติและสิ้นพระชนม์ในวันเดียวกัน)
7. พลเรือเอก สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎาวงศ์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา (ต้นสกุลอัษฎางค์ ณ อยุธยา)
8. สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุช กรมขุมเพชรบูรณ์อินทราไชย (ต้นสกุลจุฑาธุช)
9. สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปก กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา (รัชกาลที่ 7)


มีคำถามว่า เมื่อ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ มีพระชายาเป็นชาวต่างประเทศ จะสามารถครองราชย์ได้หรือไม่ ?

ขอตอบว่า โดยกฎมณเฑียรบาลมาตรา11 ข้อ 4 ก็คงไม่ได้ เว้นแต่รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชโองการแต่งตั้งเป็นรัชทายาท

แต่ต่อมาภายหลังกรมหลวงพิษณุโลกทรงหย่าขาดกับภรรยาชาวต่างประเทศแล้ว เล่าลือกันวงในว่า อาจเพราะรัชกาลที่ 6 ทรงขอไว้ เพื่อกรมหลวงพิษณุโลกอาจต้องครองราชย์ได้ในอนาคต หากในกรณีรัชกาลที่ 6 ไม่มีพระราชโอรส

จนเมื่อรัชกาลที่ 6 สวรรคตลง ทำไมรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงได้ขึ้นครองราชย์ ?

ก่อนอื่นขอให้ดูกฎมณเฑียรบาลว่าด้วย ลำดับการสืบราชสันตติวงศ์

ลำดับที่ 1 พระราชโอรสหรือพระราชนัดดา

ลำดับที่ 2 กรณีซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไร้พระราชโอรสและพระราชนัดดา แต่ทรงมีสมเด็จอนุชาที่ร่วมพระราชชนนี หรือพระราชโอรสของสมเด็จพระอนุชา

ลำดับที่ 3 กรณีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไร้พระราชโอรสและพระราชนัดดา กับไร้ทั้งสมเด็จพระอนุชาร่วมพระราชชนนี แต่ทรงมีสมเด็จพระเชษฐา หรือสมเด็จพระอนุชาต่างพระราชชนนี หรือพระโอรสของสมเด็จพระเชษฐาหรือพระอนุชา

ลำดับที่ 4 กรณีซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไร้พระราชโอรสและพระราชนัดดา กับทั้งไร้สมเด็จพระอนุชาร่วมพระราชชนนี และไร้สมเด็จพระเชษฐา หรือพระอนุชาต่างพระราชชนนี แต่ทรงมีพระเจ้าพี่ยาเธอหรือพระเจ้าน้องยาเธอ หรือพระโอรสของพระเจ้าพี่ยาเธอหรือพระเจ้าน้องยาเธอ

ลำดับที่ 5 กรณีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไร้พระราชโอรสและไร้พระราชนัดดา พระอนุชาร่วมพระราชชนนีและพระอนุชาต่างพระราชชนี พระเจ้าพี่ยาเธอ น้องยาเธอ แต่ทรงมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอหรือพระโอรส


ดังกล่าวนี้คือลำดับพระองค์ ผู้มีสิทธิ์สืบราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาล มาตรา 9 แต่มีข้อบังคับว่าด้วยผู้ที่ต้องยกเว้นจากการสืบราชสมบัติไว้ในหมวด 5 มาตรา 11 ว่าดังนี้

1. มีพระสัญญาวิปลาศ
2. ต้องราชทัณฑ์ เพราะประพฤติผิดพระราชกำหนดกฎหมายในคณดีมหันตโทษ
3. ไม่สามารถทรงเป็นอัครพุทธศาสนูปถัมภก
4. มีพระชายาเป็นนางต่างด้าว กล่าวคือนางที่มีสัญชาติเดิมเป็นชาวประเทศอื่น นอกจากชาวไทยโดยแท้
5. เป็นผู้ที่ได้ถูกถอดถอนออกแล้ว จากตำแหน่งพระรัชทายาท ไม่ว่าการถูกถอดถอนจะได้เป็นไปในรัชกาลใด ๆ
6. เป็นผู้ที่ได้ถูกประกาศยกเว้นออกเสีย จากลำดับสืบราชสัตติวงศ์

*ให้ดูข้อ 4 และข้อ 6 เป็นสำคัญ




------------------------------------

เหตุที่รัชกาลที่ 7 ทรงได้ครองราชย์ แทนพระองค์จุลจักรพงษ์

เหตุเพราะ กรมหลวงพิษณุโลก ทรงสวรรคตก่อนรัชกาลที่ 6 ดังนั้น ลำดับสืบราชสันตติวงศ์นั้น จึงต้องตกไปที่ทายาทของกรมหลวงพิษณุโลกแทน นั่นคือ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ หรือ พระองค์จุล


พระองค์จุล ทรงเป็นท่านตาของฮิวโก้ จุลจักร จักรพงษ์


สำหรับข้อห้ามของการขึ้นครองราชย์ในกฎมณเฑียรบาลนั้น ไม่มีข้อห้ามเรื่องกรณีมีพระมารดาเป็นชาวต่างชาติ เพราะห้ามแต่มีพระชายาเป็นชาวต่างชาติเท่านั้นในข้อ 4

อีกทั้งพระมารดาของพระองค์จุล แม้จะเป็นชาวต่างชาติ แต่ก็ได้รับการรับรองจากรัชกาลที่ 6 ให้เป็นสะใภ้หลวงแล้ว พระองค์จุล จึงทรงไม่มีเหตุต้องมลทินใด ๆ ในการเป็นรัชทายาทต่อจากกรมหลวงพิษณุโลก

อีกทั้งตอนที่รัชกาลที่ 6 ทรงสวรรคตเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2468 พระองค์จุล ทรงมีพระชันษาเพียง 17 พรรษา ทรงยังโสด ยังไม่ได้แต่งงาน

ดังนั้นตามหลักที่ถูกต้อง พระองค์จุล จึงสมควรขึ้นเป็นรัชกาลที่ 7 ตามหลักการสืบราชสันตติวงศ์

แต่ที่พระองค์จุล กลับถูกข้ามไป เพราะทูลกระหม่อมบริพัตร ซึ่งมีอำนาจทางการเมืองมากที่สุดในเวลานั้น ทรงอ้างว่า รัชกาลที่ 6 ทรงเคยให้กรมหลวงพิษณุโลก ทำหนังสือสัญญาไว้ว่า หากกรมหลวงพิษณุโลกได้ขึ้นครองราชย์ จะต้องไม่ให้พระองค์จุล เป็นรัชทายาท เหตุเพราะมีแม่เป็นชาวต่างชาติ (แต่กฎมณเฑียรบาลไม่มีข้อห้ามในเรื่องนี้)

ทูลกระหม่อมบริพัตร ซึ่งมีอำนาจทางการเมืองมากที่สุดในขณะนั้น ทรงสามารถโน้มน้าวใจพระราชวงศ์ และขุนนางต่าง ๆ ให้เชื่อคล้อยตามได้โดยไม่ยาก เพื่อยินยอมให้สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปก กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ได้ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 7 (ทรงเป็นพระอนุชาแท้ๆ ของ ร.6 ที่ยังมีพระชนม์ชีพอยู่)

**แต่เอกสารที่อ้างว่า กรมหลวงพิษณุโลกทรงเขียนเป็นสัญญาไว้ ก็ยังไม่มีใครเคยเห็น แต่อาจอยู่ที่ทูลกระหม่อมบริพัตร**



(ทูลกระหม่อมบริพัตร หรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต)


ซึ่งเท่าที่ผมพอทราบ ดูเหมือนพระองค์จุลทรงเคยเล่าไว้ในหนังสือ เกิดวังปารุสก์ ว่า รัชกาลที่ 7 ทรงมีจดหมายถึง พระองค์จุล เพื่ออธิบายสาเหตุที่ต้องข้ามพระองค์จุลไปในคราวหมดรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 นั่นคือ ความตามมาตรา 10 ของกฎมณเฑียรบาล

"มาตรา๑๐ ท่านพระองค์ใดที่จะได้เสด็จขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ควรที่จะเป็นผู้ที่มหาชนนับถือได้โดยเต็มที่และเอาเป็นที่พึ่งได้โดยความสุขใจฉะนั้นท่านพระองค์ใดมีข้อที่ชนหมู่มากเห็นว่าเป็นที่น่ารังเกียจก็ควรที่จะให้พ้นเสียจากหนทางที่จะได้สืบราชสันตติวงศ์เพื่อเป็นเครื่องตัดความวิตกแห่งพระบรมวงศานุวงศ์ข้าทูลละอองธุลีพระบาทและอาณาประชาชน"

เหตุเพราะ พระมารดาของพระองค์จุล เป็นชาวต่างชาติ แม้จะไม่ได้เป็นข้อห้ามในการสืบราชสันตติวงศ์ก็ตาม แต่สถานการณ์ในตอนนั้น ก็อาจมีคนต่อต้านพระองค์จุล อยู่มาก

โดยพระองค์จุล ก็ทรงเขียนไว้ในหนังสือ เกิดวังปารุสก์ ไว้ว่า "ข้าพเจ้ามิได้เคยนึกว่า ตนถูกตัดจากสิทธิอะไรเลย ข้าพเจ้าไม่เคยนึกและบัดนี้ก็มิได้นึกว่า ข้าพเจ้ามีสิทธิอย่างใดเกินกว่าที่คนไทยทุก ๆ คนย่อมมีอยู่ตามกฎหมาย"



ส่วนกรณีหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัช โอรสในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเพชรบูรณ์อินทราไชยนั้น รัชกาลที่ 6 ทรงเคยมีพระราชโองการสั่งเสียไว้ก่อนแล้วว่า ให้ข้ามหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัชไป เพราะหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัชมีแม่ที่ไม่มีชาติสกุล ทรงเกรงว่าจะไม่เป็นที่เคารพแห่งพระบรมวงศานุวงศ์ (หมายถึง แม่ของหม่อมเจ้าวรานนท์ธวัช ไม่ได้รับการรับรองจากรัชกาลที่ 6 ให้เป็นสะใภ้หลวง)

ดังนั้น การที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้ครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 7 นั้น ผู้มีส่วนสำคัญที่สุดก็คือ ทูลกระหม่อมบริพัตร จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต นั่นเอง

---------------------

เมื่อรัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติ ปัญหาการสืบราชสันตติวงศ์ก็กลับมาอีก

ตามที่รู้กันอยู่ว่า ทูลกระหม่อมบริพัตร ในฐานะผู้สำเร็จราชการพระนคร และองคมนตรี ทรงมีอำนาจทางการเมืองและการทหารมากที่สุดในขณะนั้น ดังนั้นคณะราษฎร จึงต้องจับทูลกระหม่อมบริพัตร เป็นพระองค์แรก แล้วส่งทูลกระหม่อมบริพัตรเสด็จออกนอกประเทศในทันที หลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ต่อมารัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2477 ซึ่งลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ สายตรงที่ใกล้ชิดรัชกาลที่ 7 ก็คือ พระองค์จุล เช่นกัน ซึ่งในขณะนั้นพระองค์จุล ก็ยังโสด ยังไม่ได้แต่งงานกับชาวต่างชาติแต่อย่างใด

(ภายหลังจากนั้น พระองค์จุลทรงสมรสกับหม่อมเอลิสะเบธ จักรพงษ์ ณ อยุธยา เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2481 มีธิดาคือ หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์)

แต่ คณะราษฎร ไม่เชื่อว่า รัชกาลที่ 6 ทรงเคยให้กรมหลวงพิษณุโลก พระบิดาของพระองค์จุล ลงพระนามเป็นสัญญาว่า จะไม่ทรงแต่งตั้งพระองค์จุล ขึ้นเป็นรัชทายาท หากกรมหลวงพิษณุโลกได้ครองราชย์จริง ๆ ตามที่ทูลกระหม่อมบริพัตรอ้างถึงเมื่อครั้งทูลเชิญสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปก ขึ้นเป็นรัชกาลที่ 7

เพราะคณะราษฎร ไม่เคยเห็นเอกสารฉบับดังกล่าวนั้น และรัชกาลที่ 6 ก็ไม่ทรงเคยมีพระบรมราชโองการให้ข้ามพระองค์จุล ไป


-----------------------

เหตุที่คณะราษฎร ข้ามพระองค์จุล อีกครั้ง

คณะรัฐมนตรีในขณะนั้น คือครม.ของรัฐบาลพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (หัวหน้าคณะราษฎร) เกือบจะมีความเห็นพ้องว่า จะทูลเชิญพระองค์จุล มาเป็นรัชกาลที่ 8 อยู่เหมือนกันในการอภิปราย เพราะพระองค์จุล ทรงเป็นหลานแท้ ๆ ของรัชกาลที่ 7

นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีมหาดไทยในขณะนั้น ได้อภิปรายให้คณะรัฐมนตรีฟังว่า หากกรณีรัชกาลที่ 6 ให้ข้ามพระองค์จุล เพราะมีแม่เป็นชาวต่างชาติเป็นเรื่องจริงตามที่ทูลกระหม่อมบริพัตร เคยอ้างไว้ในการขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ 7 ก็อาจทำให้มีปัญหายุ่งยากตามมาภายหลังได้

อีกทั้ง คนไทย รวมถึงเชื้อพระวงศ์ (ในเวลานั้น) ก็อาจทำใจยอมรับพระมหากษัตริย์ที่เป็นลูกครึ่งได้ไม่ดีนัก

ดังนั้นก็ควรข้ามพระองค์จุล อีกครั้งจะดีกว่า เพราะมิเช่นนั้น ก็อาจมีคำถามตามมาอีกว่า ทำไมคราวนี้พระองค์จุล ขึ้นครองราชย์ได้ แล้วทำไมตอนรัชกาลที่ 6 สวรรคต กลับข้ามพระองค์จุล ไปเสีย ?


นายปรีดี จึงเสนอว่า ดังนั้นควรข้ามพระองค์จุล ไป แล้วกลับไปที่สายหลักดั้งเดิมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 นั่นคือสายของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งตอนนี้พี่น้องร่วมอุทรกับเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศที่เหลืออยู่ก็คือ สายราชสกุลมหิดล ของกรมหลวงสงขลานครินทร์ หรือจอมพลเรือสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม

อีกทั้งพระมารดาของกรมหลวงสงขลานครินทร์ คือสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ก็ทรงเป็นเสด็จป้าแท้ ๆ ของรัชกาลที่ 7 อีกด้วย จึงทรงเป็นสายตรงลำดับที่ใกล้ชิดรองลงมาจากพระองค์จุล

แต่กรมหลวงสงขลานครินทร์ทรงสวรรคตไปแล้ว ดังนั้นลำดับการสืบราชสันตติวงศ์จึงตกไปที่ทายาท ก็คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล

คณะรัฐมนตรีต่างเห็นพ้องคล้อยตามการอภิปรายของนายปรีดี พนมยงค์ จึงมีมติทูลเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นเป็นรัชกาลที่ 8 สืบไป

-------------------

คำถาม หากไม่มีคณะราษฎร ไม่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัชกาลที่ 7 อาจไม่เลือกสายราชสกุลมหิดล เป็นรัชกาลที่ 8 จริงหรือไม่ ?

ขอตอบว่า มีโอกาสเป็นไปได้สูงมากที่รัชกาลที่ 7 อาจไม่ทรงเลือกราชสกุลมหิดล

เพราะในช่วงเวลานั้น เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำอย่างมาก รวมทั้งประเทศไทยก็มีปัญหาเศรษฐกิจสูง จนเป็นเหตุให้มีข่าวลือว่า อาจมีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ อยู่เป็นระยะ ๆ

รัชกาลที่ 7 เองก็ทรงมีพระราชปรารถนาอยากจะสละราชสมบัติอยู่แล้วเป็นเนือง ๆ เพราะอยากจะทรงไปรักษาพระอาการประชวร

และถึงแม้รัชกาลที่ 7 จะทรงเลือกสายราชสกุลมหิดลตามลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ที่เหมาะควรก็ตาม

แต่ก็เป็นไปได้ว่า ทางราชสกุลมหิดล โดยพระชนนีหม่อมสังวาลย์ ก็อาจปฏิเสธ เพราะพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ยังทรงมีพระชนมายุเพียง 9 พรรษาเท่านั้น แล้วพระชนนีหม่อมสงวาลย์ ก็มีความปราถนาไม่อยากให้ลูก ๆ ทรงยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

สรุป จึงเป็นไปได้ว่า หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัชกาลที่ 7 อาจทรงเลือกทูลกระหม่อมบริพัตรขึ้นเป็นรัชกาลที่ 8 ก็ได้โดยพระราชอำนาจตามมาตรา 5 ของกฎมณเฑียรบาล  เพื่อความมั่นคงของประเทศ เพราะทูลกระหม่อมบริพัตร ทรงเป็นพระเชษฐาต่างพระมารดากับรัชกาลที่ 7

หรือหากทูลกระหม่อมบริพัตร ไม่ทรงขึ้นครองราชย์เอง ก็ทรงอาจให้พระโอรสองค์โตของพระองค์ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต ขึ้นเป็นรัชกาลที่ 8 แทน

เหตุผลที่สำคัญอีกอย่างคือ ทูลกระหม่อมบริพัตร ทรงเป็นผู้สนับสนุนให้รัชกาลที่ 7 ได้ครองราชย์ด้วย จึงมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับรัชกาลที่ 7 เป็นทุนเดิม


หมายเหตุ แต่ถ้าเหตุการณ์บ้านเมืองเป็นปกติดี รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชปรารถนาให้สายราชสกุลมหิดล สืบราชสมบัติตามลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ต่อไป

เพราะก่อนที่รัชกาลที่ 7 จะสละราชสมบัติ แต่หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว และหลังจากทูลกระหม่อมบริพัตรเสด็จออกนอกประเทศไปแล้ว คือเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2475 ร.7 ทรงเคยมีพระราชดำริแก่ พระยานโมปกรณ์นิติธาดา (นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น)  พระยาพหลฯ และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม(หรือนายปรีดี) ทรงอยากให้พระราชโอรสของกรมหลวงสงขลานครินทร์ ขึ้นครองราชย์

แต่ก็ยังเป็นพระราชดำริส่วนพระองค์ แก่ผู้เข้าเฝ้าทั้งสามคนเท่านั้น


ข้อมูลจาก เว็บปรีดี พูนศุข

----------------------

คำถาม กรณี รัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ทรงมีสมเด็จพระชนนีเป็นสามัญชน

ขอตอบว่า แม้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จะทรงเป็นสามัญชน แต่การอภิเษกสมรสของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีกับพระบรมราชชนก ก็ทรงได้รับการรับรองจากพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 ให้เป็นสะใภ้หลวง

ดังนั้นลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ของรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 จึงไม่ทรงมีมลทินในความต่ำต้อยที่มีพระมารดาเป็นสามัญชนแต่ประการใด

------------------------

ทิ้งท้ายบทความ

บทความเรื่องนี้ ผม ใหม่เมืองเอก เขียนเล่าอย่างพอให้เข้าใจอย่างง่าย ๆ คุณผู้อ่านก็ควรอ่านให้พอรู้เป็นสังเขป แต่อย่าเชื่อผู้เขียนไปหมดเสียทีเดียว 

คุณผู้อ่านควรไปศึกษาหาข้อมูลจากแหล่งอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วยตัวเอง จะยิ่งทำให้เข้าใจประวัติศาสตร์ชาติไทยได้ดียิ่งขึ้น และจะได้วิเคราะห์กลั่นกรองเองว่า ควรจะเชื่อแหล่งข้อมูลจากที่ใดมากที่สุดครับ

ขอบคุณที่กรุณาอ่านมาจนจบ

คลิกอ่าน คดีลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 ในมุมมองใหม่เมืองเอก






3 ความคิดเห็น:

  1. คุณไม่รู้จิง ทำความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ การอ้างจาก ปรีดี พูนสุข ไม่สามารถกระทำได้ เพราะทางนั้นก็ไม่มีความรู้เรื่องสืบสันตติวงศ์ เป็นไพร่ขุนนาง เเละคณะราษฎร์ไม่ได้มีบทบาทใดๆ ลำดับสืบสันตติวงศ์ วังทราบดีอยู่เเล้ว สมเด็จเจ้าฟ้านริศรานุวัติวงศ์ผู้ทรงอาวุโสตรวจทานอีกที ปรีดีเเละคณะราษฎร์ไม่เกี่ยวข้องด้วย สายพระพันวสาถูกต้องเเล้ว เพราะสายพระพันปีหมดที่ร.7

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. คุณนั่นแหละมั่ว รัฐบาลคือผู้มีอำนาจที่สุดในการทูลเชิญขึ้นครองราชย์ การสืบสันตติวงศ์มีกำหนดชัดทางกฎมณเฑียรบาล เป็นตัวบทกฎหมายชัดเจน ใครอ่านกฎหมายเข้าใจ ก็อ่านกฎมณเฑียนบาลเข้าใจได้ทั้งนั้น

      สายพระพันปี จะหมดที่ ร.7 ได้อย่างไร เมื่อหลาน ร.7 คือพระองค์จุล ยังอยู่ แต่เหตุไม่ได้ครองราชย์เป็นไปตามที่ผมอธิบาย พระองค์จุลถูกข้ามมาแต่รัชกาลที่ 6

      คุณนั่นแหละมั่ว

      คณะราษฎรลงมติแล้ว ถึงส่งให้สมเด็จเจ้าฟ้านิรศรานุวัติวงศ์ ในฐานะเจ้าฟ้าที่มีความรู้ขณะนั้นวินิจฉัยอีกที ซึ่งก็ได้ ร.8 ตามที่เป็น

      ลบ
  2. ร.8และร.9 ทรงขึ้นครองราชย์ด้วยความชอบธรรมทุกประการ บุญบารมีแผ่ไพศาลส่งผลให้ประเทศไทยเกิดการพัฒนาในทุกด้าน ประชาชนที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินใต้เบื้องพระยุคลบาท ล้วนมีความสุขความเจริญอย่างเห็นเด่นชัด บุญของแผ่นดินไทยแล้วที่มีพระมหากษัตริย์ทรงรักประชาชนเช่นพระองค์

    ตอบลบ