วันอาทิตย์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2560

คนไทยทานอาหารตามสั่งราคาแพงเกินไปไหม





ก่อนอื่นขอเท้าความเล็กน้อยว่า ผมเขียนบทความเกี่ยวกับราคาอาหารมาหลายบทความมาก ๆ รวมทั้งการนำราคาอาหารจานเดียวของไทยเปรียบเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำของไทย แล้วนำไปเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยราคาอาหารของประเทศที่เจริญแล้วหลายประเทศด้วยวิธีเดียวกัน

จนผมได้เห็นข้อสังเกตว่า คนไทยเราทานอาหารจานเดียวในราคาค่าเฉลี่ยที่แพงกว่าประเทศที่เจริญแล้วหลายประเทศ  ครับ

จากที่เขียนบทความทำนองนี้มาหลายบทความและหลายปี ผมได้ข้อสรุปว่า ราคาอาหารตามสั่งหรือราคาอาหารจานเดียวของไทย จำพวกข้าวกระเพรา ข้าวแกง ข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง ก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ ที่เราเรียกรวม ๆ กันว่า อาหารจานเดียว นั้น

ในอดีต ราคาอาหารจานเดียวของไทยเมื่อเทียบกับอัตราค่าแรงขั้นต่ำแล้ว จะมีค่าเฉลี่ยส่วนต่างกันประมาณ 10 เท่า ซึ่งผมเคยเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในบทความเรื่อง ราคาอาหารจานเดียวที่เป็นธรรมควรอยู่ที่ราคาเท่าไหร่

เช่น ถ้าวันนี้ค่าแรงขั้นต่ำของไทยอยู่ที่วันละ 300 บาท ราคาอาหารจานเดียวทั่ว ๆ ไป ควรมีราคาไม่เกินจานละ 30 บาท เป็นต้น ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่มีรัฐบาลไทยรัฐบาลไหนสามารถคุมราคาอาหารให้อยู่ในเกณฑ์นี้ได้เลย

ที่ปรากฏอยู่ในเวลานี้ คือ ค่าแรงขั้นต่ำของไทยซื้ออาหารจานเดียวทานได้ไม่ถึง 10 จาน


ส่วนในประเทศที่เจริญแล้ว อย่างญี่ปุ่น จีน หรือสิงคโปร์ และอีกหลายประเทศ ทั้ง ๆ ที่ บางประเทศต้องนำเข้าสินค้าประเภทอาหารจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ด้วยซ้ำ

แต่ค่าแรงขั้นต่ำของประเทศเหล่านี้กลับสามารถซื้ออาหารจานเดียวทานได้ 12-15 จาน เป็นอย่างน้อย แถมมีปริมาณอาหารต่อจานมากกว่าอาหารจานเดียวในประเทศไทยทั้งสิ้น

ในขณะที่ประเทศไทย ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ซื้ออาหารจานเดียวในปัจจุบันคือราคาจานละ 35-40 บาท ได้เพียง 8.5 - 7.5 จาน เท่านั้น แถมปริมาณอาหารในหลาย ๆ ร้านกินจานเดียวก็ไม่ค่อยอิ่ม

ทั้งที่ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลก แต่คนในประเทศกลับต้องกินอาหารในราคาที่แพงเกินไปครับ

-----------------------------

ตัวอย่างราคาอาหารตามสั่งในฟู้ดเซนเตอร์ที่ตึกอลลซีซั่นส์เพลส

คือช่วงนี้ผมมีโอกาสไปกินข้าวที่ศูนย์อาหาร หรือชื่อฟู้ดปาร์ค ในท็อปมาร์เก็ต ที่ตึกออลซีซันส์เพลส (All Seasons Place) อยู่หลายครั้ง


ท็อปมาร์เก็ต ที่ตึกออลซีซั่นส์เพลส


บริเวณศูนย์อาหารฟู้ดปาร์ค ในท็อปมาร์เก็ต


อาหารตามสั่งของที่นี่ขายราคาจานละ 40 บาท ถ้าใส่ไข่ก็เพิ่มอีก 10  บาท

เช่น ผมมักกินข้าวกระเพราหมูไข่ดาว หรือบางครั้งผมก็สั่งผัดพริกแกงหมูราดข้าวโปะไข่ดาว ในราคาจานละ 50 บาท ปริมาณอาหารก็มากพออิ่ม รสชาติก็เหมือนร้านทั่วไป หรืออาจดีกว่าเล็กน้อย เพราะบรรยากาศดีกว่า เลยรู้สึกน่ากินกว่า


ผัดพริกแกงหมูราดข้าวโปะไข่ดาว 


ร้านอาหารตามสั่งที่ผมทานประจำ ราคาเริ่มต้นที่ 40 บาท


โอเค นี่คือราคาปกติเหมือนแถวบ้านผมย่านโชคชัย 4 เลยนะ

ทำให้ผมมาคิด ๆ ว่า เฮ้ย ! นี่ในฟู้ดเซนเตอร์เป็นห้องแอร์ แถมไม่มีฝุ่นควันจากถนน และไม่มีแมลงวัน แถมมีเครื่องฆ่าเชื้อที่ช้อนส้อมด้วยแสงยูวีด้วย กลับขายอาหารตามสั่งได้ในราคาเท่าร้านอาหารตามสั่งริมถนนข้างนอกเลยนะ


เครื่องฆ่าเชื้อช้อนส้อมด้วยแสงยูวี


ทั้ง ๆ ที่พวกร้านอาหารตามสั่งริมถนนข้างนอกนี่ ร้อนก็ร้อน มีทั้งฝุ่นควัน แถมบางร้านก็มีแมลงวันบินว่อน เรื่องความสะอาดก็เป็นรอง บางร้านเป็นพวกรถเร่ริมถนนด้วยซ้ำ แต่กลับขายแพงเท่าอาหารตามสั่งในห้าง

คุณรู้ไหม อาคารออลซีซั่นส์เพลส ถ.วิทยุนั้น ตอนที่เจ้าของตึกนี้เขาซื้อที่ดินผืนนี้มาราคาแพงสุดในประเทศไทยเลยนะ แพงกว่าที่ดินบนถนนสีลมอีก คือราคา ตร.ว.ละ 350,000 บาท เมื่อปี พ.ศ. 2532

ปัจจุบันนี้ ที่ดินบนถนนวิทยุสวย ๆ แบบตึกออลซีซั่นส์เพลส ราคา ตร.วา ละ 1.5 ล้านบาทขึ้นไปจนถึงแตะ 2 ล้านบาท ดังนั้นค่าเช่าร้านในตึกนี้ต้องแพงกว่าร้านอาหารริมถนนทั่วไปอย่างแน่นอน

ผมจึงคิดว่า คน กทม. กินอาหารตามสั่งตามริมถนนข้างนอกราคาแพงไปหน่อยนะ เมื่อเทียบกับราคาฟู้ดปาร์คที่ท็อปมาร์เก็ต ตึกออลซีซั่นส์เพลส แล้ว

การที่ร้านอาหารตามสั่งที่ไม่ได้อยู่บนที่ดินราคาแพงระดับประเทศ แถมไม่ติดแอร์ และความสะอาดก็ไม่ค่อยดีนัก แต่กลับขายอาหารราคาเท่ากับฟู้ดเซนเตอร์ของตึกออลซีซั่นส์เพลส

ท่านเจ้าของร้านอาหารตามสั่งทั้งหลายครับ คุณคิดว่า คุณขายอาหารราคาเอาเปรียบผู้บริโภคของคุณเกินไปหรือไม่ ?

คือโดยส่วนตัวผมคิดว่า ร้านอาหารตามสั่ง หรือร้านอาหารจานเดียวข้างนอกริมทางทั่ว ๆ ไป ไม่ควรขายเกินจานละ 30 บาท หรือไม่ควรขายแพงกว่าอาหารตามสั่งที่ตึกออลซีซั่นส์เพลส

----------------

สรุปท้ายบทความ

อย่างแถวบ้านผมย่านโชคชัย 4 หลายร้านตักข้าวก็น้อย กินก็ไม่ค่อยอิ่ม ร้านก๋วยเตี๋ยวหลายร้านก็ให้เส้นน้อย ปริมาณโดยรวมคือทานไม่อิ่ม แต่พวกเขาก็ถือว่า เขายังขายได้ เลยไม่สนใจหรือเห็นอกเห็นใจลูกค้าที่อุตส่าห์มาอุดหนุนร้านของเขา

ขึ้นชื่อว่า อาหารจานเดียว อย่างน้อยต้องมีปริมาณพอเหมาะ พออิ่ม คุณอาจจะขายราคาจานละ 40 50 หรือ 60 บาทก็ได้ ตามราคาที่เหมาะสมกับทำเลที่ตั้งของคุณ แต่ก็ควรให้ลูกค้าของคุณทานได้พออิ่มใน 1 จาน หรืออิ่มแปร้เลยยิ่งดี

ตัวอย่างง่าย ๆ นะ ถ้าท่านเจ้าของร้านกินข้าวจานนึง หรือก๋วยเตี๋ยวจานนึงปริมาณเท่าไหร่คุณถึงจะอิ่ม คุณก็ควรจะขายอาหารในปริมาณที่คุณเองกินอิ่มใน 1 จานแก่ลูกค้าของคุณด้วย นี่แหละถือว่า คุณจริงใจต่อลูกค้าของคุณแล้ว

เพราะ ผู้ค้าอาหารได้ชื่อว่า เป็นผู้ให้กำลัง

การขายอาหารราคาถูกเพื่อประชาชน ถือว่า เป็นการทำบุญทุกวันด้วยอาชีพของคุณเอง 

ถ้าเจ้าของร้านอาหารคนใดคิดได้ที่ผมแนะนำนี้ รับรองว่าความสุข ความเจริญก็จะมีแก่ร้านของคุณและครอบครัวของคุณอย่างแน่นอนครับ

คลิกอ่าน คนไทยกินก๋วยเตี๋ยวค่าเฉลี่ยแพงกว่าชาติอื่นไหม

คลิกอ่าน ข้าวเปล่าไทยแพงกว่าข้าวเปล่าญี่ปุ่น

คลิกอ่าน ไข่ไทยแพงกว่าไข่ญี่ปุ่น