วันเสาร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2558

จับโกหกยิ่งลักษณ์ แก้ตัวโครงการรับจำนำข้าวกลางสภา สนช.








ก่อนอื่นผมขอบอกก่อนว่า ผมไม่สนใจเรื่องการถอดถอนยิ่งลักษณ์ จะถอดถอนหรือไม่ถอดถอน สำหรับผมไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้มากนัก

แต่ที่ผมสนใจคือคำแก้ตัวของยิ่งลักษณ์เรื่องโครงการรับจำนำข้าวกลางสภา สนช. เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 58 ซึ่งถ้าใครก็ตามติดตามเรื่องโครงการจำนำข้าวอย่างเกาะติดมาตลอด จะรู้ทันทีว่า ยิ่งลักษณ์โกหกมากมาย ยิ่งลักษณ์คงหลอกได้เฉพาะพวกโง่ที่หลงใหลเธอได้เท่านั้น

ยิ่งลักษณ์ใช้หลักแก้ตัวแบบพูดความจริงเพียงด้านเดียว ซึ่งเดี๋ยวผมจะชี้ให้เห็น  และเธอก็เลือกที่จะพูดแต่ข้อดีของโครงการรับจำนำข้าวเท่านั้น

\

โดยผมจะยกเฉพาะประเด็นสำคัญ ๆ เท่านั้น มาชี้ให้เห็น

1. นโยบายรับจำนำข้าวมีมานานแล้ว (คลิปนาที่ 6)

ประเด็นนี้ยิ่งลักษณ์เลือกที่จะพูดความจริงเพียงด้านเดียว นั่นคือ บอกแค่ว่า โครงการจำนำข้าวมีครั้งแรกในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ตั้งแต่ พ.ศ.2524 ซึ่งก็ใช่ครับ แต่สิ่งที่ยิ่งลักษณ์ยกมาอ้างนั้น ยกมาบอกไม่หมด นั่นคือ โครงการจำนำข้าวที่ผ่านมาในอดีต เป็นการรับจำนำข้าวจริง ๆ ไม่ใช่การซื้อข้าวแบบโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์

เพราะโครงการรับจำนำข้าวในอดีต จะรับจำนำข้าวจากชาวนาในราคาที่เท่ากับราคาตลาดข้าว หรืออาจสูงกว่าเล็กน้อยไม่เกิน 5-10 % ของราคาตลาดในช่วงนั้น เพื่อให้ชาวนาได้นำข้าวมาจำนำกับรัฐบาลไว้ก่อน แล้วหากวันใดราคาตลาดเกิดปรับสูงขึ้นกว่าราคาจำนำเมื่อไหร่ ชาวนาก็สามารถมาไถ่ถอนข้าวที่นำมาจำนำกับรัฐบาลออกไปเพื่อไปขายเองในราคาตลาดต่อไป เพื่อจะได้ราคาที่ดีกว่า

หรือถ้าชาวนายังไม่มาไถ่ถอนข้าวคืนก่อนกำหนด แล้วเผอิญรัฐบาลจะนำข้าวที่จำนำไปขายในราคาที่สูงกว่าราคาจำนำได้ หากชาวนายินยอมให้รัฐบาลขายให้ เมื่อรัฐบาลขายข้าวไปแล้ว ก็จะนำราคาส่วนได้เกินมาคืนให้แก่ชาวนาอีกที

เช่น รัฐบาลรับจำนำข้าวในราคาตันละ 6 พันบาท ในขณะที่ราคาตลาดข้าวในวันนี้อยู่ที่ตันละ 5,700 แต่พออีก 2 เดือนต่อมา ราคาข้าวในตลาดปรับตัวขึ้นไปเป็นตันละ 6,300 บาท ชาวนาก็จะมาไถ่ถอนข้าวที่จำนำไว้กับรัฐบาลออกไปเพื่อไปขายให้โรงสีเอง เป็นต้น

การจำนำข้าวของรัฐบาลในอดีต จึงเป็นการกดดันให้โรงสีขยับราคารับซื้อข้าวเพิ่มขึ้น เพราะไม่งั้นชาวนาก็ไม่เอามาขาย แล้วพอราคาขยับเพิ่มได้ระดับที่น่าพอใจแล้ว ชาวนาที่จำนำกับรัฐบาลไว้ ก็จะมาไถ่ถอนข้าวคืน เพื่อไปขายเอง

แต่โครงการรับจำนำข้าวของยิ่งลักษณ์ ไม่ใช่การจำนำข้าวแบบปกติ แต่เป็นการรับซื้อข้าวในราคาสูงกว่าราคาตลาดถึง100% คือตันละ 15,000 บาท เพราะราคาตลาดในกันยายน2554 ก่อนเริ่มโครงการจำนำข้าวในเดือนตุลาคม 2554 อยู่ที่ตันละ 7,500 บาทเท่านั้น ทำให้ตั้งแต่มีโครงการรับจำนำข้าวของยิ่งลักษณ์มา ยังไม่เคยมีเกษตรกรรายใดมาไถ่ถอนข้าวออกไปขายเองเลย 

ดังนั้นโครงการรับจำนำข้าวของยิ่งลักษณ์นี้จึงเป็นการรับซื้อข้าวม่ใช่การจำนำข้าวเหมือนในอดีตที่ผ่านมา แต่เลี่ยงบาลีมาใช้คำว่า จำนำข้าว เพราะเกรงจะผิดกฎค้าเสรีที่ไทยเป็นสมาชิก WTO

แถมยังเป็นการผูกขาดตลาดข้าวโดยรัฐบาลเสียเอง เพราะข้าวส่วนใหญ่ในตลาดข้าวอยู่ในมือรัฐบาลเอง ซึ่งถือเป็นการกระทำผิดรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 43 อีกด้วย

รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 43 ห้ามการผูกขาดการค้า คลิกที่รูปเพื่อขยาย


ถามว่า ในเมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์กระทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 43 ทำไมถึงไม่มีใครเอาผิด และทำไมถึงยังลอยนวล

คำตอบคือ เพราะนี่คือจุดบกพร่องของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ไม่เปิดโอกาสให้มีคนร้องเอาผิดรัฐบาลในมาตรานี้ได้ และไม่มีบทลงโทษด้วย ตามที่ท่านวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญเคยอธิบายไว้ ตามนี้ คลิกอ่านรายละเอียดที่นี่




2. มีชาวนาไม่ได้เข้าโครงการจำนำข้าว 49 % (คลิปนาทีที่ 11)

ประเด็นนี้ยิ่งลักษณ์บอกเองว่า มีชาวนาไม่ได้เข้าร่วมโครงการจำนำข้าว 49 % ทำให้ยังมีข้าวในตลาดอีกครึ่งนึงที่ทำให้ผู้ค้าข้าวรายใหญ่ยังค้าขายได้ตามปกติ

สังเกตประเด็นนี้ดี ๆ นะครับ มีการใช้เทคนิคการพูดแบบยอกย้อนให้ผิดความหมาย

ให้ดูจากรูปนี้ประกอบ


รูปที่ยิ่งลักษณ์นำมาแสดงในสภา สนช.

ประเด็น 2.1 คำว่ามีชาวนาไม่ได้เข้าโครงการจำนำข้าวมีถึง 49 % นั้น ยิ่งลักษณ์พูดโกหก เพราะตัวเลขที่ยิ่งลักษณ์นำเสนอคือปริมาณข้าว ไม่ใช่จำนวนชาวนา

แถมปริมาณข้าว 49 % ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการจำนำข้าว ก็เป็นข้าวของชาวนาส่วนใหญ่ในประเทศถึง 60 % ครับ ซึ่งเป็นเกษตรกรรายย่อย ที่ปลูกข้าวไว้กินเอง หรืออาจเหลือขายบ้างเล็กน้อยเท่านั้น จึงไม่ได้เข้าโครงการจำนำข้าว ยิ่งชาวนาในภาคอีสานมีมากถึง 70 % ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการจำนำข้าวเลย

ส่วนปริมาณข้าว 51% ที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวกลับเป็นของชาวนาเพียง 40 % ของประเทศนี้เท่านั้น (บางสำนักข่าวอ้างว่า มีชาวนาในโครงการจำนำข้าวแค่ 25 % เท่านั้น)

เท่ากับว่า โครงการรับจำนำข้าวของยิ่งลักษณ์ที่ใช้เงินไปมากกว่า 1 ล้านล้านบาท ในช่วง 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา เป็นการนำเงินไปช่วยชาวนาส่วนน้อยของประเทศเท่านั้น

อีกทั้งเงินมากกว่า 1 ล้านล้านบาท เป็นเงินที่ถึงมือชาวนาเพียง 40 % ส่วนที่เหลืออีก 60 % ไปตกอยู่กับโรงสี และกระบวนการทุจริตสวมสิทธิข้าว และผู้ส่งออกที่ใกล้ชิดคนในรัฐบาลที่ได้ซื้อข้าวในราคาต่ำกว่าความเป็นจริง


ประเด็น 2.2 จากรูป ยิ่งลักษณ์ ยอมรับเองว่า ผู้ค้ารายใหญ่ยังดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ

จึงแสดงว่า โครงการรับจำนำข้าวของยิ่งลักษณ์เอื้อประโยชน์เฉพาะผู้ค้ารายใหญ่เท่านั้น นี่คือการทำลายกลไกตลาดชัดเจน



3 วิธีคำนวณมูลค่าสินค้าคงเหลือ

มูลค่าข้าวที่คงเหลือในโกดังจำนำข้าวของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์อ้างว่า ปลัดกระทรวงการคลังกดมูลค่าจนต่ำเกินไป เพราะนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กลับให้มูลค่าคงเหลือสูงกว่า


เอกสารของยิ่งลักษณ์แสดงในสภา สนช.

ประเด็นนี้ ยิ่งลักษณ์แค่ต้องการดิสเครดิตปลัดกระทรวงการคลัง

ส่วนนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าว เขาก็พูดในฐานะนักธุรกิจ เขาไม่ได้มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมายกับการขายข้าวในโกดังของรัฐบาล เขาไม่ได้มีหน้าที่ต้องมารับผิดชอบหาทางแก้ไขปัญหาหนี้จำนำข้าวของรัฐบาล เขาก็คงพูดในแนวทางกว้าง ๆ

แต่ปลัดกระทรวงการคลังถือว่า เป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลโดยตรงที่เกียวข้องกับทรัพย์สินและหนี้ที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าว

ดังนั้นประชาชนต้องเชื่อคำพูดหรือข้อมูลของปลัดกระทรวงการคลัง เพราะโกดังข้าวเป็นของรัฐบาล แต่ยิ่งลักษณ์กลับเลือกที่จะอ้างคำพูดของนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวเพื่อเข้าข้างตัวเอง

แล้วทำไมยิ่งลักษณ์ไม่ลองอ้างคำพูดของนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการรับจำนำข้าวบ้างล่ะ

10 มกราคม 2557 นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าว เคยแนะนำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์หยุดโครงการรับจำนำข้าว และหยุดแทรกแซงพ่อค้า



ผู้สื่อข่าว ถาม ท่าทีโครงการรับจำนำข้าว ?

นายเจริญ "หนัก ใจ เพราะตลาดไม่ใช่ภาวะปกติ มีสินค้าในสต๊อกค่อนข้างเยอะ ต้องหาทางระบายออก แต่ผมเชื่อว่าการจำนำข้าวไม่ว่าจะมีรัฐบาลไหนมาทำ คงต้องมีการปรับเปลี่ยนอีกมาก ทั้งราคา การประมูล และการระบาย ทุกอย่าง ไม่เช่นนั้นรัฐบาลจะต้องมีภาระสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ และผลประโยชน์ไม่ได้ตกถึงชาวนาทั้งหมด เราก็พูดมาเป็นเวลา 2 ปีแล้วว่า นโยบายนี้จะมีปัญหา คนแรกที่กระทบคือ ผู้ส่งออก โรงสี หยง และชาวนา เป็นวัวพันหลัก เมื่อขายไม่ได้ข้าวสารลงก็ไปฉุดข้าวเปลือกลงอีก และเรามีข้าวใหม่ทุกปี ถ้าไม่ส่งออกปีละ 8 ล้านตัน เท่ากับว่าเรามีสต๊อกใหม่เพิ่มอีกปีละ 2-3 ล้านตัน รวมสต๊อกข้าวเก่านับ 20 ล้านตัน"

ผู้สื่อข่าว ถาม สมมติเปลี่ยนขั้วแล้วกลับเป็นประกันรายได้ ?

นายเจริญ "การชดเชยให้ชาวนาโดยตรงก็ดีนะ เพราะรัฐบาลสามารถควบคุมงบประมาณได้ รายได้ถึงมือชาวนาได้มากขึ้น รัฐบาลจะใช้ 2-6 แสนล้านบาทก็ไม่เป็นไร ดีกว่าไปตกที่อื่น แต่จำเป็นต้องมีการกำหนดราคาขั้นต่ำ เช่น ข้าวขาว 5% ความชื้น 15% ราคาตันละ 11,000-12,000 บาท ข้าวหอมมะลิตันละ 15,000-16,000 บาท ชาวนาน่าจะแฮปปี้ ถ้าต่ำกว่านี้ก็ต้องไปแทรกแซงดึงราคาให้สูงขึ้น หรือช่วยประกันภัย ช่วยปัจจัยการเพาะปลูก บริหารทั้งดีมานด์และซัพพลายตลอดเวลา แต่อย่ามายุ่งกับการซื้อขายของเอกชน เพราะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พิสูจน์แล้วว่ารัฐบาลมายุ่งราคาตลาดคนเดียวเลย ทำให้ราคาตก ที่เคยขายได้ตันละ 600 เหรียญ เหลือ 400 กว่าเหรียญสหรัฐ ยังต้องแก้อีกหลายปีจะจบไหม"

ผู้สื่อข่าว ถาม ผู้ส่งออกไม่ร่วมประมูล ?

นายเจริญ "ประมูลผู้ส่งออกไม่นิยมซื้อ เพราะต้องรับสภาพข้าวที่ประมูลซึ่งมีการจัดเก็บไว้นาน เราไม่รู้หรอกข้าวในโกดังเป็นหมื่น ๆ กระสอบจะมีคุณภาพเป็นอย่างไร จึงมีจดหมายถึงท่านนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการรองนายก รัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ควบคุมมาตรฐาน โดยเสนอว่าถ้าจะยังคงใช้นโยบายจำนำ ต้องมีการตรวจสอบข้าวที่จะเข้าคลังไปจนถึงกระบวนการระบายข้าว ต้องโปร่งใส คุณภาพควบคุมได้ ต่ผมว่าหยุดเลยจะดีกว่า เพราะการจำนำเป็นโปรเจ็กต์ใหญ่ ต่อให้คุณสุจริต แต่มันมหึมาควบคุมไม่ได้ และเสื่อมคุณภาพเร็ว เก็บ 5-6 เดือนคุณค่ามันหายไปหมด นี่เป็นตัวแปรสำคัญ แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบ"



4. ประเทศไทยสูญเสียแชมป์เพราะต่างประเทศทุ่มตลาด

ยิ่งลักษณ์อ่านโพยว่า "กรณีข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลของตนทำให้ประเทศไทยเสียแชมป์ข้าวโลกว่า เป็นข้อกล่าวหาที่ไม่ถูกต้อง เพราะการระบายข้าวสารดำเนินการระบายตามราคาตลาดโลก ไม่ได้อ้างอิงราคาข้าวเปลือก จึงไม่เกี่ยวกับโครงการรรับจำนำข้าว แต่เป็นผลจากการทุ่มตลาดของต่างประเทศในเวลาดังกล่าว ข้อพิสูจน์คือ ปี 2557 ไทยกลับมาเป็นแชมป์ส่งออกข้าวอีกครั้ง ซึ่งเป็นข้าวจากโครงการรับจำนำข้าวทั้งสิ้น"

นี่ก็เป็นการพูดความจริงด้านเดียว เพราะเรื่องการแข่งขันตัดราคากันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว โดยเฉพาะตลาดข้าวคุณภาพต่ำ ที่อินเดียมักทุ่มตลาดในส่วนนี้

แต่ไทยเราเป็นชาติที่ขายข้าวคุณภาพดีกว่า เช่นข้าวหอมมะลิก็ยังเสียตลาดในส่วนนี้ให้เวียดนาม เช่นที่ฮ่องกง เป็นต้น


หรือแม้แต่ประเทศฟิลิปปินส์ที่เป็นลูกค้าข้าวรายใหญ่ของไทยมาตลอด ก็เลือกที่จะอดหนุนข้าวเวียดนามแทน

ในปี 2554 ไทยเคยส่งข้าวไปฟิลิปปินส์มีมูลค่า 59.02ล้านเหรียญ  แต่พอมีโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์แล้ว
ในปี 2555 ไทยส่งข้าวไปฟิลิปปินส์เหลือมูลค่าแค่ 6.03 ล้านเหรียญเท่านั้น !!
ปี 2555 ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวจากเวียดนาม มูลค่ามากถึง 318.77 ล้านเหรียญ หรือคิดเป็น ร้อยละ 81.54 ของการนำเข้าข้าวทั้งหมด

คลิกอ่าน ความล้มเหลวของข้าวไทยในฟิลิปปินส์ 


ดังนั้นการที่มีโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กลับช่วยให้ข้าวต่างประเทศมีราคาดีขึ้น แต่ข้าวไทยกลับขายไม่ออก !!

ผมไม่วิจารณ์ประเด็นนี้แล้วกัน แต่ให้อ่านความเห็นของผู้บริหา่รบริษัทส่งออกข้าวรายใหญ่ของเวียดนามเขาอธิบายแล้วกัน

ให้สังเกตที่กรอบสีแดงที่ผมทำครอบไว้ครับ



4.1 ยิ่งลักษณ์อ้างว่า ไทยจ่อได้แชมป์ส่งออกข้าว ก็เพราะผลงานข้าวในโครงการจำนำข้าวของเธอ

โถ ยิ่งลักษณ์แถได้อย่างด้าน ๆ เลยนะครับ  เพราะประเด็นการส่งออกต้องแยกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่เอกชนส่งออก กับ ส่วนรัฐบาลขายเอง 

ในส่วนที่เอกชนส่งออก ข้าวส่วนใหญ่เขาซื้อจากโรงสีโดยตรงในฤดูกาลใหม่ ไม่ได้เกี่ยวกับข้าวในโกดังจำนำข้าวสักเท่าไหร่นัก เพราะไม่มีผู้ส่งออกรายใดอยากซื้อข้าวในโครงการนี้แล้ว

ส่วนข้าวที่รัฐบาลขาย รัฐบาลไทยก็ต้องยอมขายแบบขาดทุน ไม่งั้นข้าวไทยก็ขายไม่ออกเหลือเน่าคาโกดัง

แต่ยิ่งลักษณ์กลับแถเอาความดีความชอบเข้าตัวเองเฉยเลย



5 . กปปส. ขัดขวางการจ่ายเงินให้ชาวนาของรัฐบาล (คลิปนาทีที่ 32.30)

เรื่องนี้เป็นตรรกะที่พวกแกนนำแดง ใช้หลอกเสื้อแดงมานานมาก เพราะพวกนี้รู้ดีว่า เสื้อแดงไม่เคยอ่านข้อกฎหมาย ไม่เคยตามข่าว เอาแต่เชื่อแกนนำอย่างเดียว

ผมเองก็อธิบายเรื่องนี้ในหลายบทความแล้วว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ใช้เงินในโครงการจำนำข้าวจนเต็มเพดานเงินกู้ไปแล้ว 5 แสนล้านบาท จึงทำให้ไม่อาจกู้เพิ่มได้อีก เพราะมันจะผิดวินัยการคลัง จึงทำให้ไม่มีเงินมาจ่ายชาวนามาตั้งแต่เดือนกันยายน 2556

ลองอ่านข่าวนี้

คุณประพีร์ อังกินันทน์ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน รักษาการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้เปิดเผยผลการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินว่า คณะรัฐมนตรีชุดนี้ได้ตีกรอบวงเงินหมุนเวียนโครงการรับจำนำข้าวไว้ว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556 จะไม่เกินวงเงิน 500,000 ล้านบาท แต่ตัวเลข ณ วันที่ 30 กันยายน 2556 (ช่วงที่รัฐบาลเริ่มมีการติดหนี้ชาวนา) รัฐบาลได้เบิกเงินไปแล้ว 677,128.46 ล้านบาท แต่ได้เงินคืนจากการระบายข้าวเพียง 128,373.10 ล้านบาท (แค่1ใน5) รัฐบาลจึงมีหนี้ค้างชำระ ธ.ก.ส. หรือ ธนาคารเพื่อการเกษตรฯ สูงถึง 548,755.45 ล้านบาท

คุณประพีร์ ระบุด้วยว่า โครงการนี้มีความเสี่ยงที่นำไปสู่การทุจริตในทุกขั้นตอน จะเป็นเจตนาของรัฐบาลหรือเปล่า ผมไม่ทราบ ต้องรอผลการสอบสวนของ ป.ป.ช. แต่ตัวเลข ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2556 รัฐบาลขาดทุนโครงการจำนำข้าวไปแล้ว 332,372.23 ล้านบาท ถ้าเทียบเงินที่รัฐบาลเบิกไป 6 แสนกว่าล้านบาท ณ วันที่ 30 กันยายน 2556 ก็ถือว่า ขาดทุนแบบครึ่งต่อครึ่ง ยังไม่นับข้าวที่เหลือในโกดัง

(แต่คลิปนาทีที่ 31.10 ยิ่งลักษณ์โกหกกลาง สนช. ว่า ใช้เงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาทในปี 2556)


ส่วนกลุ่ม กปปส. เริ่มก่อตั้งและชุมนุมกันในเดือนพฤศจิกายน 2556 แต่ชาวนาไม่ได้เงินมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2556 แล้ว ดังนั้นการที่ชาวนาไม่ได้เงินจึงไม่เกี่ยวกับ กปปส. แต่อย่างใด

ส่วนเรื่องการปล่อยกู้ของธนาคารออมสินนั้น กปปส.ไปชุมนุมต่อต้านการปล่อยกู้แบบมีเงื่อนงำไม่โปร่งใส ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นหนี้เน่าที่ไม่มีใครรับผิดชอบ ตามที่ผมเคยอธิบายในบทความเรื่อง ทำไมพนักงานออมสินต้านการปล่อยกู้ให้ ธกส. 

อีกทั้ง กปปส. ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ลาออก  ไม่ได้เรียกร้องให้ยิ่งลักษณ์ยุบสภา

ดังนั้นเมื่อยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภาในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 เอง จึงทำให้รัฐบาลรักษาการณ์ไม่มีอำนาจเต็มในการกู้เงินใด ๆ ที่จะเป็นผลพัวพันได้อีก เพราะจะผิดรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 181 (3) ที่ระบุว่า คณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่รักษาการอยู่ ต้องไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป

ดังนั้นการที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่สามารถกู้เงินมาจ่ายชาวนาได้ จึงมี 2 ประเด็นคือ
1. ใช้เงินเกินวงเงิน 5 แสนล้านบาทไปแล้ว
2. ประกาศยุบสภา จึงไม่มีอำนาจกู้เงินได้อีก



http://imgur.com/B06CWk1



6. ประเด็นข้าวหาย 2 แสนตัน

โอเค ประเด็นนี้ยังมีข้อมูลตัวเลขที่ถกเถียงกันอยู่ แต่ถ้ายึดตามที่ยิ่งลักษณ์บอกเองคือ ข้าวหาย 2 แสนตัน ยิ่งลักษณ์พูดเหมือนมันน้อยนะ แต่ความจริงข้าวสาร 2 แสนตัน มันเท่ากับมูลค่าถึง 4 พันล้านบาท (เพราะรับจำนำข้าวเปลือกตันละหมื่นห้า เมื่อสีเป็นข้าวสารจึงมีต้นทุนตันละ 2 หมื่นบาทเป็นอย่างน้อย)

แล้วยิ่งลักษณ์อ้างว่า ในสัญญากับโกดังจัดเก็บ ถ้าข้าวหายหรือเสื่อมสภาพ จะมาคิดเป็นความสูญเสียของรัฐไม่ได้ เพราะทางโกดังต้องเป็นฝ่ายชดใช้

เอ่อ.. อ้างง่ายไปหน่อยนะครับ ยิ่งลักษณ์

ยกตัวอย่างเช่น การโกงเงินสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 1,600 ล้านบาท ถามว่า เมื่อไอ้คนโกงมันหนีไปเมืองนอกแล้ว ฟอกเงินไปแล้ว ถามว่า สถาบันฯ จะได้เงินคืนครบหรือไม่ ?

เข่นเดียวกัน เมื่อข้าวหาย ข้าวเสื่อม สุดท้ายไม่พ้นเป็นความสูญเสียของรัฐอยู่ดี แถมโรงสีอาจสู้คดีอีกนานด้วยว่า ที่ข้าวเสื่อมไม่ได้เป็นความผิดของเขา แค่เพราะรัฐต่างหากที่เสือกมาเช่าเอง โกดังเขาไม่ได้ทำไว้เพื่อเก็บข้าวนานเป็นปี ๆ




7. อ้างถึง คดีประชาธิปัตย์ทำความเสียหายจาก ปรส. 8 แสนล้านบาท


เอกสารของยิ่งลักษณ์แสดงใน สนช.

ประเด็นนี้ต้องบอกว่า ยิ่งลักษณ์เป็นคนเอาดีใส่ตัวเอาชั่วให้คนอื่นตัวจริง เพราะ คดี ปรส. นั้น มูลค่าทรัพย์สิน 8 แสนล้านบาท คือมูลค่าก่อนการเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งเป็นมูลค่าทรัพย์สินที่รวมทั้งหนี้ดีและหนี้เสียรวมกัน

แล้วคนทำให้เกิดคดี ปรส. ก็มาจากความล้มเหลวในการบริหารประเทศที่ผิดพลาดของรัฐบาลชวลิต

เมื่อเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งแล้ว หนี้ดีจะมีมูลค่าลดลงกว่าครึ่ง เช่น มูลค่าที่ดินของตึกร้างเดิมมีมูลค่า 100 ล้านบาท พอเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งมูลค่าที่ดินตกลงเหลือแค่ 50 ล้านบาทเท่านั้น

แต่หนี้เสียกลับไม่ลดลง แถมเพิ่มขึ้นเพราะดอกเบี้ยด้วย เช่น ถ้ากู้เงินมาสร้างตึกมูลค่า 300 ล้านบาท พอเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ มูลค่าหนี้ที่ไปกู้ไม่ได้ลดลง แถมถ้ากู้เงินมาจากต่างประเทศกลับเป็นหนี้เพิ่มขึ้น 2 เท่า เพราะค่าเงินบาทตกลงไปถึง 50 บาทต่อดอลล่าห์สหรัฐ นี่แหละคือสาเหตุที่เกิดตึกร้างกลางกรุงมากมาย

ดังนั้น หลังเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งมูลค่าทรัพย์สิน 8 แสนล้าน จึงไม่ใช่มูลค่าที่แท้จริง ต่อมารัฐบาลปชป.ขายทรัพย์สิน ปรส.ได้เงินประมาณ 2 แสนล้านซึ่งถือว่าสมเหตุสมผลแล้ว

ซึ่งถ้าใครยังไม่เข้าใจประเด็นนี้  แนะนำอ่านบทความเรื่อง โอ๊คโชวฺโง่คดี ปรส. คลิกที่นี่

แล้วยิ่งลักษณ์ยังกล้าโกหกกลางสภา สนช. ว่า โครงการรับจำนำข้าวทำความเสียหายแค่ 1 แสนล้านบาทเท่านั้น !!



8. ยิ่งลักษณ์บอกเองว่า ข้าวเหลือคาโกดัง 19 ล้านตัน (คลิปนาทีที่ 32.14)

ยิ่งลักษณ์บอกว่า ถ้าขายข้าว 19 ล้านตันนี้ได้ รัฐบาลก็ไม่ต้องออกพันธบัตรมาใช้หนี้ เพราะจะเป็นภาระผูกพันธ์รัฐบาลในระยะยาว

ที่ยิ่งลักษณ์บอกว่าเหลือข้าว 19 ล้านตัน (ตัวเลขจริงประมาณ17.9ล้านตัน) เพราะจะได้ดูว่า ข้าวในโครงการของเธอไม่ได้หาย ยังมีเหลือในโกดังตั้งเยอะ แต่ความจริงกลับกลายเป็นโชว์โง่แท้ ๆ ว่าที่ผ่านมารัฐบาลตัวเองขายข้าวไม่ได้ต่างหาก

แล้วความจริง รัฐบาล คสช. ต้องออกพันธบัตรชุดสุขกันเถอะเรา 1 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้หนี้จำนำข้าวงวดแรก โดยจะเปิดขายในวันที่ 12 ม.ค. 58 นี้

นั่นเพราะรัฐบาลยังไม่มีเงินจะมาจ่ายหนี้เงินกู้ในโครงการจำนำข้าวได้ เลยต้องออกพันธบัตรขายให้ประชาชนเ เพื่ออาเงินมาหมุนใช้หนี้กู้ระยะสั้นไปก่อน

แต่ยิ่งลักษณ์พูดง่ายทำอย่างกับว่า การขายข้าว 19 ล้านตันทำเหมือนขายขนมครกให้หมดได้ในพริบตา ทั้ง ๆ ที่ข้าว 19 ล้านตันเป็นปริมาณข้าวที่มีมากที่สุดในประวัติศาตร์สต๊อกรัฐบาล ซึ่งคาดว่า อาจต้องใช้เวลาร่วม ๆ 10 ปีถึงจะขายหมด ถ้าไม่มีใครมาซื้อแบบเหมายกเข่งไป แต่กว่าจะขายหมด ก็คงเหลือข้าวที่พอขายได้ไม่เท่าไหร่แล้ว

เช่นเดียวกัน มูลค่าข้าวสารที่มีอยู่ 19 ล้านตัน ถ้ามีต้นทุนที่ 2 หมื่นบาทต่อตัน ก็จะมีมูลค่า เท่ากับ 380,000 ล้านบาท แต่รัฐบาล คสช. คงขายในราคาตันละ 2 หมื่นบาทไม่ได้แน่นอน ซึ่งความเสียหายและขาดทุนในส่วนนี้จะมาโทษรัฐบาล คสช.ไม่ได้ มันต้องโทษรัฐบาลที่ก่อหนี้ต่างาก


ผมชักเหนื่อยจนไม่อยากอธิบายมากแล้ว แต่แนะนำอ่านไปอ่านข่าวนี้เอง
คลิกอ่านรายละเอียดข่าว ผงะสต๊อกรัฐเจอข้าวดีไม่ถึง 13 % นายกฯประยุทธฺ์บอกขาดทุน 6.8 แสนล้านบาท



ทีตัวเลขที่พลเอกประยุทธ์ พูดเป็นประโยชน์ต่อยิ่งลักษณ์ ก็จะถูกเอาไปอ้างเพื่อให้ตัวเองดูดี แต่พอตัวเลขที่พลเอกประยุทธ์พูดเรื่องความเสียหาย 6.8 แสนล้าน ยิ่งลักษณ์กลับไม่กล้าเอ่ยถึง






9. ยิ่งลักษณ์อ้าง ชาวนาพอใจ เศรษฐกิจดี มีเงินหมุนเวียนในระบบเยอะ

ประเด็นนี้ยิ่งลักษณ์เลือกจะพูดในช่วงที่ยังไม่ติดหนี้ชาวนาเอามาพูด แถมที่เศรษฐกิจดี มันก็ดีแต่เปลือก

เพราะเป็นการกู้เงินอนาคตมาใช้ แต่กลับทำให้เป็นภาระของประเทศระยะยาวนานร่วม 30 ปีกว่าจะใช้หนี้โครงการจำนำข้าวได้หมด ซึ่งนายสมหมาย ภาษี รมว. คลังเป็นคนพูดเองว่า อาจต้องใช้หนี้นานถึง 30 ปี

"ทำโครงการแค่ 2 ปีกว่า แต่ต้องใช้หนี้นาน 30 ปียันรุ่นหลาน !!"


ชาวนาไม่ได้เงินมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2556 ก่อนยิ่งลักษณ์จะยุบสภาในเดือนธันวาคม 2556

ทุกวันนี้รัฐบาลยังต้องจ่ายค่าเช่าโกดังเก็บข้าวที่ยังขายไม่หมดกว่า 17 ล้านตัน ตกเดือนละ 2 พันล้านบาท !! ซึ่งเป็นต้นทุนหนี้ที่ยังเพิ่มขึ้นตลอดเวลา



10. ประเด็น คดีประกันราคาข้าวของพรรคประชาธิปัตย์

ยิ่งลักษณ์อ้างว่า คดีนี้ไม่คืบหน้า เพราะ ป.ป.ช.อ้างว่า เอกสารหายเพราะเกิดน้ำท่วมนั้น

ความจริงคือ คนที่ร้องเรียนคดีนี้ก็คือ สส.เพื่อไทย ก็ควรนำเอกสารหลักฐานมามอบให้ ป.ป.ช. เพิ่มอีกสิ แต่กลับไม่เอาไปมอบให้เอง เพราะต้องการเก็บไว้อ้างว่า คดีประกันราคาข้าวกับคดีจำนำข้าว เป็นเรื่องของ 2 มาตรฐาน 

อีกทั้งคดีนี้มันเกิดจาก รัฐบาลอภิสิทธิ์ขายข้าวเสื่อมสภาพที่หลงเหลือมาจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลสมัครและรัฐบาลสมชาย จึงทำให้ขายข้าวไม่ได้ราคาเท่าที่ควร แต่พรรคเพื่อไทยกลับกล่าวหาว่า มีการโกง



11. ยิ่งลักษณ์อ้างว่า ยกเลิกนโยบายจำนำข้าวไม่ได้ทำง่าย ๆ เพราะมีคณะกรรมการนโยบายหลายคน

เรื่องนี้ก็โกหกชัดเจน เพราะคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติหรือ กขช. นั้นประกอบไปด้วย

นายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติโดยตำแหน่ง

รมว.พาณิชย์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ และรมว.คลัง เป็นรองประธานกรรมการ

ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เลขาธิการสศช. ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ผู้แทนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิด้านข้าว เป็นกรรมการ

รวมคณะกรรมการฯ ทั้งหมด 24 คน ซึ่งถ้ารัฐบาลคิดจะยกเลิกนโยบายจำนำข้าวจริงๆ ประธานก็เรียกประชุมคณะกรรมการ แล้วเสนอญัตติเข้าไปให้คณะกรรมการพิจารณา แล้วเสนอลงมติว่าจะยกเลิกนโยบายจำนำข้าวหรือไม่

ซึ่งถ้านายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เป็นรองประธานร่วมกันเสนอ โอกาสที่ปลัดกระทรวงต่าง ๆ ที่เป็นกรรมการอยู่นั้น ก็คงไม่ขัดนโยบายรัฐบาลอยู่แล้ว

ถามว่า ยิ่งลักษณ์ เคยคิดเสนอที่ประชุมเพื่อลงมติยกเลิกนโยบายจำนำข้าวบ้างหรือยังล่ะ ?

ถ้ายิ่งลักษณ์ไม่เคยเสนอญัตติยกเลิกนโยบายจำนำข้าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการฯ เลย แล้วมันจะยกเลิกนโยบายได้อย่างไร

ซึ่งก็คือ ยิ่งลักษณ์ไม่เคยคิดยกเลิกนโยบายจำนำข้าวเลยนั่นเอง จึงเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 นั่นเอง

คลิกอ่าน รัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน



12. ประเด็นรัฐบาลทุกรัฐบาลก็ขาดทุนจากจำนำข้าวทั้งนั้น รวมทั้งประกันราคาข้าวของรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ขาดทุน

ประเด็นนี้ยิ่งลักษณ์เลือกที่จะพูดกว้าง ๆ แต่ลืมไปหน่อยว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เคยพูดก่อนเริ่มโครงการจำนำข้าวไว้ว่า จะไม่ทำให้โครงการจำนำข้าวขาดทุนเกิน 6 หมื่นล้านแน่นอน เท่ากับโครงการประกันรายได้ในช่วง 2 ปีของรัฐบาลอภิสิทธิ์  ซึ่งหากรัฐบาลเพื่อไทยทำโครงการจำนำข้าวขาดทุนเกิน 6 หมื่นล้าน รัฐบาลเพื่อไทยคงอยู่ต่อไม่ได้

แต่พอทำโครงการจริง ๆ แค่ครึ่งปีก็ขาดทุนเกิน 6 หมื่นล้านไปแล้ว รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ไม่ยอมหยุดโครงการหายนะนี้ ยังเดินหน้าทำโครงการหายนะต่อ

แน่นอน ทุกโครงการที่รัฐบาลช่วยชาวนาย่อมต้องมีขาดทุนบ้าง ในจุดที่พอรับได้ แต่การที่เอาภาษีของชาติภาษีที่คนทั้งประเทศต้องแบกรับหนี้นานถึง 30 ปีมาโปรยให้ชาวนาแค่ในช่วง 2 ปี ก็ไม่ได้ช่วยให้ชาวนายืนอยู่บนลำแข้งได้อย่างยั่งยืนเลย

แน่นอน การทำโครงการจำนำข้าวทำให้มีเงินในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนดีขึ้น ชาวนายิ้มได้ในช่วง 2 ปี แต่พอย่างเข้าปีที่ 3 มีชาวนาฆ่าตัวตายไป 16 รายไงล่ะ

นั่นเพราะมันเป็นการนำเงินอนาคตของประเทศ มามอมเมาชาวนานั่นเอง 


----------------------

คือกว่าผมจะเขียนบทความนี้มาจนจบ ก็ใช้เวลาไปหลายชั่วโมง ก็เลยขอจบเท่านี้ก่อน แต่หากว่า คิดประเด็นใดได้เพิ่มขึ้นอีก ก็จะมาเพิ่มเติมในภายหลังครับ

ขอบคุณคุณผู้อ่านที่สามารถอ่านมาจนถึงบรรทัดสุดท้ายนี้ครับ หากมีข้อบกพร่องหรือเจอคำผิดใด ก็ขออภัยด้วย ก็พยายามจะตรวจทานแล้ว

เหนื่อยใจกับนักการเมืองที่ไร้ความรับผิดชอบจริง ๆ ขอจบด้วยรูปของลุงเต่า ต้วมเตี้ม ทำไว้ ผมว่า ทำได้เข้าใจง่ายดีครับ




คลิกอ่าน ที่มาชื่อพันธบัตรสุขกันเถอะเรา คือ พันธบัตรเสนียดจัญไร




1 ความคิดเห็น:

  1. ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณเจ้าของบล็อกนี้มากๆค่ะ
    ดิฉันให้กำลังใจเจ้าของบล็อก และ จะติดตามนะคะ

    ตอบลบ