เพราะบล็อคมุมมองใหม่เมืองเอก ลิงค์มักมีปัญหาไลค์ไม่ได้ เลยมาเปิดบล็อคใหม่อันนี้แทนครับ
วันพุธที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2558
เฉลย ข้าวสารตรา ลายจุด ทำผิดกฎหมายฉลากตรงไหน ?
จากกรณีที่ บก.ลายจุด หรือ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ได้ผลิตข้าวสารหอมปทุม ขนาด 5 กก. ขายในราคา 200 บาทนั้น
ต่อมา บก.ลายจุด ได้โพสเฟสบุ๊คว่า ข้าวสารตราลายจุดได้ถูกแจ้งข้อหาว่า ไม่ระบุวันผลิตและวันหมดอายุ
ซึ่งจริง ๆ แล้ว ผมว่า ที่ข้าวสารตราลายจุดโดนเรื่องทำผิดกฎหมายฉลากผิด ไม่น่าจะใช่เรื่องระบุวันหมดอายุบนฉลากสินค้าหรอกครับ
แต่น่าจะเป็นความผิดเกี่ยวกับที่ ข้าวสารตราลายจุด ไม่ระบุบนสลากดังต่อไปนี้ต่างหาก ก็คือ
ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 4 พ.ศ.2543 เรื่อง ให้ข้าวสารบรรจุถุงเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ในข้อ 3
(1) ชื่อประเภทหรือชนิดของข้าวสารบรรจุถุง
หมายถึง ถ้าข้าวสารบรรจุถุงมาจากข้าวหลายชนิดผสมกัน ก็ต้องระบุเปอร์เซนต์ของข้าวแต่ละชนิดให้ชัดเจน ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลากฯ ฉบับที่ 5 เรื่องให้ข้าวสารบรรจุถุงเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก
แต่เมื่อข้าวสารตราลายจุดยืนยันว่า เป็นข้าวหอมปทุมล้วน 100 % จึงไม่ต้องระบุเปอร์เซนต์ชนิดข้าวก็ได้ แม้ไม่ผิดกฏหมาย แต่ต้องถือว่า ข้อมูลไม่ค่อยชัดเจนเท่าที่ควร
เพราะข้าวสารบรรจุขนาด 5 กก. ในท้องตล่ดทั่วไป ก็จะระบุเปอร์เซนต์ข้าวกันทั้งนั้น
ซึ่งหากตรวจพบว่า ข้าวสารตราลายจุดไม่ใช่ข้าวหอมปทุมล้วน 100 % แต่มีส่วนผสมข้าวอื่นปนก็จะมีความผิดแน่นอน
(2) วิธีการใช้ หรือวิธีการหุงต้ม หมายถึง ระบุวิธีหุงว่าใช้ข้าวปริมาณเท่าไหร่ ต่ออัตราส่วนน้ำเท่าไหร่ ซึ่งข้าวสารลายจุดไม่มีระบุในเรื่องนี้
หมายเหตุ กฎหมายควบคุมฉลากข้าวสารบรรจุถุง ยังไม่ครอบคลุมข้าวสารตักแบ่งขายตามตลาดจากกระสอบ กฎหมายควบคุมเฉพาะข้าวสารบรรจุถุงสำเร็จรูปเท่านั้น
ส่วนอ้างอิงตามมาตรา 30 และมาตรา 31 นั้น โดยเฉพาะในมาตรา 30 ไม่จำเป็นต้องเป็นเฉพาะสินค้าที่ผลิตจากโรงงานเท่านั้น ครับ (อ่านเนื้อหามาตรา 30 และ มาตรา 31 ได้ในบทความทางด้านล่าง)
กล่าวโดยสรุปก็คือ ข้าวสารบรรจุถึงเป็นสินค้าถูกควบคุมฉลาก ทั้งผลิตจากโรงงานหรือไม่ได้ผลิตจากโรงงานก็ตาม ดังนั้นข้าวสารบรรจุถุงของผลิตภัณฑ์โอทอปใด ๆ ที่ยังไม่ระบุฉลากให้ถูกต้อง โดยเฉพาะวิธีการหุง ก็ควรระบุให้ถูกต้องนะครับ ซึ่งไม่ได้ยากอะไรที่จะระบุไว้ ส่วนประเภทและชนิดข้าว ส่วนใหญ่ก็มีระบุกันอยู่แล้ว
สารคดีสั้นคุ้มครองผู้บริโภค ตอน ข้าวสารเป็นสินค้าควบคุมฉลาก
ตัวอย่าง ข้าวสารบรรจุถุงยี่ห้อ ข้าวคำฉันท์ เป็นแบบสินค้าระดับครัวเรือน ที่มีฉลากถูกต้องตามกฎหมาย อย่างที่เห็นชัดเจนบนฉลาก เช่น ระบุวิธีการหุง
คลิกที่รูปเพื่อขยาย
ส่วนหน้าฉลากถุงข้าวสารลายจุด มีเพียงเท่าที่เห็น คือ
ชื่อยี่ห้อ ชื่อชนิดข้าว และเบอร์โทรติดต่อเท่านั้น
ซึ่งโดยทั่วไป ข้าวสารบรรจุถุงจะต้องระบุสถานที่ผลิตชัดเจน
คลิกที่รูปนี้เพื่อขยาย!! (คุณผู้อ่านช่วยหาราคาข้าวบนถุงข้าวให้ผมด้วยว่ามีหรือไม่)
หรือว่า ระบุอยู่ด้านหลังถุงข้าว
แต่พอดูด้านหลังของข้าวสารตราลายจุด ก็เห็นถุงขาว ๆ โล้น ๆ ไม่มีระบุข้อความอะไร ตามรูปนี้
ดังนั้น เมื่อข้าวสารลายจุดไม่ระบุสถานที่ผลิตให้ชัดเจน ก็จะผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 31 ในข้อ 2(ข.) และ ผิดตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลากฯ พ.ศ. 2541 ในข้อ 2 (4) อีกกระทงด้วย
พระราชบัญญัติ คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522
มาตรา 30 ให้สินค้าที่ผลิตเพื่อขายโดยโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานและสินค้าที่สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก
ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับกับสินค้าที่คณะกรรมการว่าด้วยฉลากกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ในกรณีที่ปรากฏว่ามีสินค้าที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพ ร่างกายหรือจิตใจ เนื่องในการใช้สินค้าหรือโดยสภาพของสินค้านั้น หรือมีสินค้าที่ประชาชนทั่วไปใช้เป็นประจำ ซึ่งการกำหนดฉลากของสินค้านั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคในการที่จะทราบข้อเท็จจริงในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้านั้น แต่สินค้าดังกล่าวไม่เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลากตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการว่าด้วยฉลากมีอำนาจกำหนดให้สินค้านั้นเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลากได้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา 31 ฉลากของสินค้าที่ควบคุมฉลาก จะต้องมีลักษณะ ดังต่อไปนี้
(1) ใช้ข้อความที่ตรงต่อความจริงและไม่มีข้อความที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้า
(2) ต้องระบุข้อความดังต่อไปนี้
(ก)ชื่อหรือเครื่องหมายการค้าของผู้ผลิตหรือของผู้นำเข้าเพื่อขายแล้วแต่กรณี
(ข) สถานที่ผลิตหรือสถานที่ประกอบธุรกิจนำเข้า แล้วแต่กรณี
(ค) ระบุข้อความที่แสดงให้เข้าใจได้ว่าสินค้านั้นคืออะไร ในกรณีที่เป็นสินค้านำเข้าให้ระบุชื่อประเทศที่ผลิตด้วย
(3) ต้องระบุข้อความอันจำเป็น ได้แก่ ราคา ปริมาณ วิธีใช้ ข้อแนะนำ คำเตือน วัน เดือน ปีที่หมดอายุ ในกรณีเป็นสินค้าที่หมดอายุได้หรือกรณีอื่น เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการว่าด้วยฉลากกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งเป็นผู้ผลิตเพื่อขายหรือผู้สั่งหรือผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายซึ่งสินค้าที่ควบคุมฉลาก แล้วแต่กรณี เป็นผู้จัดทำฉลากก่อนขาย และฉลากนั้นต้องมีข้อความดังกล่าวในวรรคหนึ่ง ในการนี้ ข้อความตามวรรคหนึ่ง (2) และ (3) ต้องจัดทำตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการว่าด้วยฉลากกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา”
---------------------
วันหมดอายุ ไม่ได้บังคับว่าต้องระบุบนฉลากข้าวสารบรรจุถุง
ส่วนกรณีวันหมดอายุนั้น ก็คงไม่ถึงกับบังคับ เพราะเท่าที่ดูจาก มาตรา 31 พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค ข้อ 3 ก็ให้ระบุวันหมดอายุเฉพาะกรณีที่สินค้ามีวันหมดอายุเท่านั้น
แต่กรณีข้าวสารนั้น จะไม่มีวันหมดอายุที่แน่นอน ดังนั้น จึงไม่ถือว่าบังคับว่า ข้าวสารบรรจุถุงจะต้องระบุวันหมดอายุที่หน้าฉลากด้วย
เท่าที่ผมไปเดินสังเกตฉลากบนข้าวสารบรรจุถุงยี่ห้อต่าง ๆ ที่ขายอยู่ในห้างหลาย ๆ ยี่ห้อ ก็ไม่มีการระบุวันหมดอายุ เช่นกัน
แต่ !! ทุกยี่ห้อจะระบุวันผลิตไว้ทุกยี่ห้อ เพราะเมื่อไม่มีวันหมดอายุ ก็จะระบุวันผลิตเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค ตาม ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฯ
ดังนั้นถ้าฉลากไม่ระบุวันหมดอายุไว้ก็ไม่น่าจะเป็นอะไร แต่ต้องระบุวันผลิตแทน ตาม ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก เรื่องลักษณะของฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลาก พ.ศ. 2541 ในข้อ 2 (9)
ดังนั้น ในบทความนี้ ผมขอสรุปในชั้นแรกว่า ที่ข้าวสารตราลายจุด ได้กระทำผิดเรื่องกฎหมายฉลากนั้น จึงมีเพียง 5 ประเด็นเท่านั้นคือ
1. วิธีการใช้หรือหุงต้มข้าว ตามพ.ร.บ.คุุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ข้อ 3 และตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2543) เรื่องให้ข้าวสารบรรจุถุงเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ข้อ 3 (2)
ซึ่งข้าวสารบรรจุ 5 กก. ในท้องตลาดจะระบุเรื่องวิธีหุงข้าวทั้งนั้น ถ้ายี่ห้อไหนไม่ระบุ ก็ถือว่า ผิดกฎหมาย
2. ไม่ระบุสถานที่ผลิตให้ชัดเจน ตาม พ.ร.บ.คุุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ข้อ 2(ข) และ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก เรื่องลักษณะของฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลาก พ.ศ. 2541 ข้อ 2 (4)
เช่น ถ้าผลิตที่บ้าน ก็ให้ระบุเลขที่บ้าน แต่ข้าวสารตราลายจุด บ้านอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ เลขที่บ้านก็ไม่มี ผลิตในจังหวัดไหนก็ไม่บอก
เพราะข้าวสารบรรจุ 5 กก. ในท้องตลาดทุกยี่ห้อเท่าที่ผมไปสังเกตมา เขาจะระบุสถานที่ผลิตและบรรจุถุงชัดเจนว่า ตั้งอยู่แห่งหนตำบลใด เลขที่เท่าไหร่ จังหวัดอะไรชัดเจนครับ
3. ราคาขายปลีกบนฉลากหน้าถุง ตามพ.ร.บ.คุุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ข้อ 3 และตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก เรื่องลักษณะของฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลาก พ.ศ. 2541 ในข้อ 2(10)
เพราะผมก็ยังหาราคาขายหน้าถุงข้าวสารตราลายจุดไม่เจอเช่นกัน เพราะถ้าไม่มีระบุราคาไว้บนฉลากสินค้า ก็ผิดกฎหมายแน่นอน เว้นแต่ตอนวางจำหน่ายมาติดป้ายราคาที่ถุงภายหลัง ก็อนุโลม แต่เท่าที่เห็นหลายรูป เมื่อข้าวสารไปถึงมือผู้บริโภค หรือไปวางขายในร้านค้า ก็ไม่เห็นมีราคาติดหน้าถุงแต่อย่างใด
ซึ่งโดยปกติข้าวสารบรรจุถุงขนาด 5 กก. แทบทุกยี่ห้อในท้องตลาด จะพิมพ์ราคาขายติดที่ถุงไว้ทั้งสิ้น ส่วนจะขายจริงราคาเท่าไหร่ ก็ขึ้นอยู่กับทางห้างร้านที่จัดจำหน่ายกำหนด
แต่เท่าที่รู้ ข้าวสารตราลายจุดประกาศขายในราคาถุงละ 200 บาท/5 กก.
ผมก็อดนึกสงสัยไม่ได้ว่า ในเมื่อตั้งใจจะขายราคาถุงละ 200 บาทป กะอีแค่พิมพ์ราคาเพิ่มบนฉลาก มันยากนักเหรอ ? หรือว่า มีอะไรหมกเม็ด ??
4. ไม่ระบุวันเดือนปีที่ผลิต หรือ วันหมดอายุ อย่างใดอย่างหนึ่ง
หมายเหตุ ในประเด็นวันเดือนปีที่ผลิต หรือ วันหมดอายุบนฉลากนั้น ผมยังตีความกฎหมายได้ไม่กระจ่างนักว่า เป็นการบังคับว่าต้องระบุบนฉลากหรือไม่ เพราะตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก เรื่องลักษณะของฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลาก พ.ศ. 2541 ในท้ายประโยคของข้อ 2 (9) ได้ใช้คำว่า (ถ้ามี) อยู่ท้ายประโยค ตามนี้
ข้อ2 (9)วันเดือนปีที่ผลิต หรือวันเดือนปีที่หมดอายุการใช้ หรือวันเดือนปีที่ควรใช้ก่อน วันเดือนปีที่ระบุนั้น เพื่อให้เข้าใจในประโยชน์ของคุณภาพหรือคุณสมบัติของสินค้านั้น (ถ้ามี)
เพราะคำว่า ถ้ามี น่าจะหมายถึง ถ้ามีก็ควรระบุไว้ แต่ถ้าไม่มีก็ไม่ต้องระบุ
ดังนั้นในข้อ 2 (9) จึงไม่ใช่การบังคับว่าต้องระบุไว้ ทำให้ ข้าวสารตราลายจุด จึงไม่น่าผิดกฎหมายในกรณีไม่ระบุ วันเดิอนปีที่ผลิต หรือ วันหมดอายุ บนฉลาก
แต่ในความผิดข้ออื่น ๆ ที่ผมสรุปไว้ใน 2 ข้อแรก ข้าวสารตราลายจุด น่าจะผิดกฎหมายเต็ม ๆ ครับ นั่นคือ
1.ไม่มีวิธีการหุง และ
2.ไม่ระบุสถานที่ผลิตและบรรจุข้าวให้ชัดเจน
ดูตัวอย่างฉลากข้าวสารที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ตัวอย่าง
ตัวอย่าง
------------------
ล่าสุด ผมได้เถียงกับ บก.ลายจุด ในเรื่องนี้ โดย บก.ลายจุดอ้างว่า ตำรวจแจ้งข้อหาข้าวสารตราลายจุด ด้วยกฎหมาย พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 กรณีไม่มีงันผลิตและวันหมดอายุ
ซึ่งผมขอบอกว่า ตำรวจก็มั่วที่แจ้งข้อหานี้ครับ เพราะผลิตภัณฑ์ที่ถูกควบคุมด้วย พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 นั้นต้องเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่มีเครื่องหมาย อย. กำกับ
แต่ ณ.วันนี้ ข้าวสารบรรจุถุงยังไม่ถูกบังคับว่าต้องมีเครื่องหมาย อย. มากำกับ
ถาม ทำไมข้าวสารบรรจุถุงถึงไม่ต้องมีเครื่องหมาย “อย.” ?
“คนทั่วไปเข้าใจว่าอะไรก็ตามที่สามารถใส่ปากเคี้ยวกลืนได้ จะต้องมีเครื่องหมาย อย. กรณีนี้ใช้ได้กับอาหารที่ปรุงสุกพร้อมบริโภคได้ทันที แต่ข้าวสาร ถึงจะเป็นอาหารแต่ยังบริโภคทันทีไม่ได้ เลยไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมี อย.” น.สพ.ศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) อธิบายถึงเหตุผล ทำไมข้าวไทยถึงไม่มี อย. (ที่มาไทยรัฐ)
แต่ในอนาคตอันใกล้ ข้าวสารบรรจุถุงจะต้องขึ้นทะเบียนเครื่องหมาย อย.
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า "เพื่อความมั่นใจของประชาชน ตนได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สุ่มตัวอย่างข้าวบรรจุถุงสำเร็จที่วางขายในท้องตลาดจำนวน 54 ตัวอย่าง ไปตรวจสอบคุณภาพ ทั้งปัญหาความชื้น สารเคมีตกค้าง สารเคมีฆ่ามอด ความไม่สะอาด โดยกำหนดให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันศุกร์ที่ 28 มิ.ย.นี้ หลังจากนั้นจะมีการสุ่มตรวจคุณภาพของข้าวบรรจุถุงอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากปัจจุบันระเบียบเดิมไม่ครอบคลุมข้าว เพราะถูกมองว่าเป็นอาหารธรรมดาของคนไทย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีความมั่นใจในสินค้าทุกอย่างที่นำมาขายในท้องตลาดมีคุณภาพอยู่แล้ว
ในสมัยนายวิทยา บุรณศิริ เป็น รมว.สธ. มีนโยบายจัดทำหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย หรือมาตรฐานการผลิตที่ดีขั้นพื้นฐาน (Primary GMP) โดยให้ระยะเวลาในการเปลี่ยนแปลง 3 ปี คือบังคับให้ต้องเข้าสู่มาตรฐานภายในปี 2558 แต่ใครพร้อมก็ทำได้เลย ซึ่งจะพยายามเร่งในเรื่องดังกล่าว" (จากข่าว จ่อบังคับข้าวถุงต้องมี อย.)
ถ้าตำรวจฟ้อง ข้าวสารลายจุด ในข้อหาความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ตำรวจก็พลาดแล้วครับ (ยกเว้นกรณีเดียว ให้อ่านเพิ่มเติมด้านล่างบทความ)
เพราะข้าวสารตราลายจุด ไม่ได้ผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522
แต่ข้าวสารตราลายจุดผิดเกี่ยวกับ ข้าวสารบรรจุถุงเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ครับ
แต่ บก.ลายจุด ก็ยังจะแถกับผมอีกว่า เขาไม่ได้ผลิตข้าวสารจากโรงงานที่มีขนาด 7 คนขึ้นไป (ทั้งที่ มาตรา 30 ไม่จำเป็นต้องเป็นเฉพาะสินค้าโรงงานเท่านั้น) ดังนั้นข้าวสารลายจุดจึงไม่ต้องทำตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค และประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ที่กำหนดให้ "ข้าวสารบรรจุถุงเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก"
ทั้ง ๆ ที่ความจริง ใน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ความหมายของคำว่า "ผู้ประกอบธุรกิจ" ไม่จำเป็นต้องเป็นเฉพาะผู้ประกอบการโรงงาน เท่านั้น และข้าวสารบรรจุถุง เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ไม่ว่าจะผลิตจากโรงงานหรือไม่ก็ตาม
เพราะแค่เพียงคุณเป็นผู้ขาย ผู้ผลิตเพื่อขาย ก็เข้าข่ายอยู่ใน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แล้วครับ
ให้ตาย เอากับเขาสิ !!
------------------------
เพิ่มเติม
จะมีกรณีเดียว ที่ข้าวสารตราลายจุด ผิด พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ก็คือ กฎหมายบังคับให้ข้าวสารบรรจุถุง ต้องมี อย. ได้ประกาศใช้แล้ว
โดยจะอนุโลมให้ข้าวสารบรรจุถุง ยี่ห้อเก่าที่ผลิตขายมาก่อน 1 มกราคม 2557 (หรือ อาจเป็น 1 ม.ค.58) ยังไม่มีความผิด ส่วนข้าวสารบรรจุถุง ยี่ห้อที่เพิ่งเกิดใหม่ในปี 2558 ต้องมี อย. แล้วเท่านั้น
ซึ่งกรณีนี้ ผมเองยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนในประเด็นนี้ แต่ตอนนี้ก็มีผลิตภัณฑ์ข้าวสารบรรจุถุงระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน หลายยี่ห้อก็มี เครื่องหมาย อย. กันแล้ว
ล่าสุด บก.ลายจุด ได้ไปออกรายการ The face หรือรายการ เผชิญหน้า
บก.ลายจุด ได้ให้สัมภาษณ์ว่า สถานที่บรรจุข้าวตราลายจุด เป็นบ้านพรรคพวกเพื่อนฝูงย่านปทุมธานี แต่ไม่สามารถบอกสถานที่สีข้าวได้ เพราะตอนไปจ้างสี ทางโรงสีไม่รู้ว่า เป็นข้าวของบก.ลายจุด และการบรรจุข้าวลงถุง ก็นั่งบรรจุข้าวและชั่วน้ำหนักกันอยู่แค่ 2 คนเท่านั้น โดยใช้เครื่องซีลราคา 5 พันบาท
สรุปคือ สถานที่ผลิตและสถานที่บรรจุข้าวสารลายจุด บก.ลายจุด ก็ยังไม่ยอมเปิดเผยเพื่อความโปร่งใส
ตัวอย่างสถานที่จัดจำหน่ายข้าวสารลายจุด ที่ซอยลาดพร้าว 1
คลิกอ่าน บทความด้าานล่างทั้ง 4 บทความ รับรองรู้ทันข้าวสารลายจุด ทันที
ตอนที่ 1 จับผิด บก.ลายจุด ขายข้าวสาร ต่างจากโครงการจำนำข้าวยิ่งลักษณ์อย่างไร
ตอนที่ 2 โทษ ม.44 โยนความผิดให้ทหาร คือทางลงของข้าวลายจุด
ตอนที่ 3 บทสรุปอันหลอกลวงของ ข้าวสารตราลายจุด โครงการ 1
ตอนที่ 4 เมื่อข้าวสารลายจุดอาจค้ากำไรเกินควร เสื้อแดงระวังจะโดนหลอก
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น