เพราะบล็อคมุมมองใหม่เมืองเอก ลิงค์มักมีปัญหาไลค์ไม่ได้ เลยมาเปิดบล็อคใหม่อันนี้แทนครับ
วันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2559
ประเทศไทยมีรัชกาลที่ 10 แล้วตั้งแต่ 13 ตุลาคม 2559
หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 เวลา 15.52 น.
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร ในฐานะองค์รัชทายาทตามกฎมณเฑียรบาล ทรงขอใช้เวลาทำพระทัยสักพักร่วมกับประชาชน จึงยังไม่ทรงต้องการปฏิบัติหน้าที่พระมหากษัตริย์เป็นการชั่วคราว (รัฐบาลอนุโลมตามพระทัย)
ดังนั้นจึงมีข้อถกเถียงว่า ตกลงตอนนี้ประเทศไทยว่างเว้นพระมหากษัตริย์หรือไม่ ?
ขอตอบว่า ตอนนี้ประเทศไทยได้มีพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 อย่างไม่เป็นทางการแล้วครับ แม้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ จะทรงขอไม่ทำหน้าที่องค์พระประมุขเป็นการชั่วคราวก็ตาม
เพราะเมื่อยึดตามโบราณราชประเพณีและกฎมณเฑียรบาล สมเด็จพระบรมฯ (องค์รัชทายาท) ทรงขึ้นครองราชย์แล้วทันที เหมือนเช่นสมัยรัชกาลที่ 5 สวรรคต องค์รัชทายาทคือ รัชกาลที่ 6 ก็ขึ้นครองราชย์ทันทีเช่นกันตามกฎมณเฑียรบาล
กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พุทธศักราช 2467 มาตรา 6 ซึ่งบัญญัติว่า
“เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสมมุติท่านพระองค์ใดให้เป็นพระรัชทายาทแล้ว และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศข้อความให้ปรากฏแก่พระบรมวงศานุวงศ์ เสนามาตย์ ราชเสวกบริพารและอาณาประชาชน ให้ทราบทั่วกันแล้ว ท่านว่า ให้ถือว่าท่านพระองค์นั้นเป็นพระรัชทายาทโดยแน่นอนปราศจากปัญหาใด ๆ และเมื่อใดถึงกาลอันจำเป็น(หมายถึงรัชกาลก่อนสวรรคต) ก็ให้พระรัชทายาทพระองค์นั้นเสด็จขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์สนองพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกษโดยทันที ให้สมดังพระบรมราชประสงค์ที่ได้ทรงประกาศไว้นั้น”
เพียงแต่พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ถือว่า ยังทรงครองราชย์อย่างไม่เป็นทางการ เพราะต้องรอให้รัฐสภาได้ประกาศรับรองเสียก่อน แต่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงขอให้ชะลอไว้ก่อน
แล้วจากรัฐธรรมนูญทุกฉบับ กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือยังปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้เพราะเหตุอื่น ถ้าไม่มีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้ก่อน ก็ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน
สรุปคือ เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงขอยังไม่ปฏิบัติหน้าที่ของรัชกาลที่ 10 เป็นการชั่วคราว ดังนั้นพลเอกเปรม จึงต้องทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนรัชกาลที่ 10 เป็นการชั่วคราวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
เพราะเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ คำว่า ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นั้น หมายถึง ผู้สำเร็จราชการแทนพระมหากษัตริย์ที่ยังมีพระชนม์ชีพเท่านั้น
ดังนั้น พลเอกเปรม จึงทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนรัชกาลที่ 10 ไม่ใช่ทำหน้าที่สำเร็จราชการแทนความว่างเว้นพระมหากษัตริย์ครับ
(ซึ่งตรงจุดนี้ ดร.วิษณู เครืองาม ให้ความเห็นคลาดเคลื่อน เพราะ ดร.วิษณุ ให้ความเห็นว่า พลเอกเปรมทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนตำแหน่งพระมหากษัตริย์ที่ยังว่างอยู่ ซึ่งยังมีอีกหลายความเห็นของ ดร.วิษณุ ที่มีลักษณะย้อนแย้งคำพูดตัวเองครับ)
เพราะที่จริงมีความกำกวมในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของพลเอกเปรม แต่เพราะรัฐธรรมนูญทุกฉบับได้ให้การรับรองกฎมณเฑียรบาลอยู่แล้ว ว่าองค์รัชทายาทขึ้นครองราชย์ทันที ดังนั้นตำแหน่งผู้สำเร็จราชการฯ ของพลเอกเปรม จึงไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
ย้ำว่า รัฐธรรมนูญให้การรับรองกฎมณเฑียรบาลอยู่แล้ว ดังนั้น กฎมณเฑียรบาล ได้กำหนดว่า องค์รัชทายาททรงขึ้นครองราชย์ทันที ประเทศไทยจึงมีพระมหากษัตริย์ตามกฎมณเฑียรบาลแล้ว
เหตุเพราะรัฐธรรมนูญบางครั้งก็ให้คำตอบไม่ครอบคลุมในทุกเรื่อง หากรัฐธรรมนูญให้คำตอบทุกเรื่องไม่ได้ ก็ให้ยึดถือตามโบราณราชประเพณีครับ
------------------
คำถามแทรก
ถ้าหากช่วงนี้เกิดมีกฎหมายให้พลเอกเปรม เซ็นในนามผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ถามว่า ในพระปรมาภิไธย อย่างไร?
ผมคาดว่าก็อาจใช้คำว่า ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 (ยังไม่เขียนพระนาม)
ซึ่งเราไม่ต้องห่วงปัญหาในข้อกฎหมาย เพราะรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังจะออกมา อาจเขียนมาตราเพิ่มเผื่อไว้ เพื่อให้การรับรองการเซ็นเอกสารของพลเอกเปรมในช่วงนี้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อป้องกันอีกชั้นก็ได้ เพื่อป้องกันหากจะมีปัญหาข้อกฎหมายในอนาคต (ผมแค่ยกตัวอย่าง)
แล้วเราต้องไม่ลืมว่า ในเวลานี้มี ม.44 ของหัวหน้า คสช. ที่คอยสนับสนุนอยู่แล้ว
ฉะนั้นจึงไม่ต้องกังวลใด ๆ
------------------
คำแถลงการณ์นายกรัฐมนตรี รับรองมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่แล้ว
ถ้าเราได้ดูคำแถลงการณ์ของพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ก็ยิ่งรับรองว่า ประเทศไทยได้มีรัชกาลที่ 10 แล้วจริง ๆ
จากคำแถลงบางส่วนของนายกรัฐมนตรี
".. ภารกิจสำคัญที่จะต้องดำเนินการในบัดนี้มี 2 ประการ คือ การดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และตามกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พุทธศักราช 2467 ตลอดจนตามราชประเพณีในส่วนของการสืบราชสันตติวงศ์ซึ่งสอดคล้องต้องกัน เพื่อให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลจะแจ้งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม สถาปนาพระรัชทายาทตามกฎมณเฑียรบาลไว้แล้ว เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2515 จากนั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป....
....พี่น้องประชาชนชาวไทยทั้งหลาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคตแล้ว ขอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลใหม่ทรงพระเจริญ”
จากแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรี สรุปได้ว่า
ในหลวงในพระบรมโกศ ได้ทรงแต่งตั้งรัชทายาท แล้วเมื่อ 28 ธ.ค. 2515 ซึ่งรัฐบาลจะแจ้ง สนช. ให้รับทราบต่อไป
การสืบราชสันตติวงศ์ให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลและโบราณราชประเพณีโดยต่อเนื่อง
หมายถึง มีรัชกาลที่10ในทันที เพียงแต่ยังไม่มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเท่านั้น
ขอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลใหม่ทรงพระเจริญ (ประโยคนี้คือการรับรองว่ามีพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่แล้วอย่างไม่เป็นการทาง)
อีกทั้งการที่นายกรัฐมนตรี ได้แนะนำว่า ควรเรียกในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ก็เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกับพระมหากษัตริย์พระองค์ปัจจุบัน ครับ
(หรือแม้กระทั่งก่อนวันที่ 13 ต.ค. 2559 ที่ผ่านมา ข่าวในพระราชสำนึกที่เคยใช้คำว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" เฉยๆ แต่ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2559 เป็นต้นมา สำนักพระราชวังได้แนะนำสื่อมวลชนทุกแขนงว่า ควรจะใช้พระนามย่อว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช" แทน)
ที่สำคัญ ทั้งนายกรัฐมนตรี และ ดร.วิษณุ เครืองาม ยังย้ำอยู่หลายครั้งว่า การสืบราชสันตติวงศ์ให้ยึดตามกฎมณเฑียรบาลและโบราณราชประเพณี
------------------------
สรุป
ตอนนี้ประเทศไทยเราได้มีพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แล้วตามโบราณราชประเพณีและกฎมณเฑียรบาล แต่ยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์อย่างไม่เป็นทางการตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ก็ทรงขัดกฎมณเฑียรบาลไม่ได้ พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แล้วโดยทันที เพียงแต่ทรงขอยังไม่ทำหน้าที่พระมหากษัตริย์เท่านั้น (ในระหว่างนี้จึงทรงอนุโลมให้เรียกพระนามเดิมว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร เหมือนเดิมเป็นการชั่วคราว)
โดยเราต้องไมลืมว่า โบราณราชประเพณีในการขึ้นครองราชย์ของพระมหากษัตริย์ นั้นมีมาก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาช้านานแล้ว ดังนั้นกรณีการขึ้นครองราชย์ เราจึงควรยึดตามกฎมณเฑียรบาลเป็นหลักไว้ก่อน
เพียงแต่ถ้าจะให้ทรงดำรงพระเกียรติยศแห่งพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญโดยสมบูรณ์ ก็ต้องให้รัฐสภาประกาศรับรองก่อน แล้วรัฐบาลก็จะประกาศต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการว่า ประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่แล้วโดยสมบูรณ์
แล้วหลังจากนั้น ก็จะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นการถัดไป เราก็จะได้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 โดยสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณีและตามรัฐธรรมนูญครับ
(เช่น สมัยรัชกาลที่ 9 ขึ้นครองราชย์ ก็มีพระบรมราชาภิเษกหลังจาก พ.ศ.2489 ถัดไปเกือบ 4 ปีครับ คือมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 4-8 พฤษภาคม พ.ศ. 2493)
-------------------
ล่าสุด ประธาน สนช. ทูลเชิญองค์รัชทายาทขึ้นเป็นรัชกาลที่ 10 แล้ว เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2559
แต่ที่ผมอยากให้ฟังคือ หลังมีรัชกาลที่ 10 อย่างเป็นทางการแล้ว
นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้แถลงการณ์ประกาศว่า ให้นับรัชสมัยแผ่นดินของรัชกาลที่ 10 ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไปโดยต่อเนื่อง ตามหลักแผ่นดินย่อมไม่ว่างเว้นพระมหากษัตริย์
ลองฟังตั้งแต่นาทีที่ 1.50
ดังนั้น ที่นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล พยายามแถว่า แผ่นดินไทยว่างเว้นพระมหากษัตริย์นั้น จึงเป็นการแถ ตามที่ผมอธิบายเหตุผลมาทั้งหมดตามบทความข้างต้น
คลิกอ่าน หยุดวาทกรรมสร้างความแตกแยกอำมาตย์ไพร่ได้แล้ว (ทำไมคนไทยยังยากจน)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
พล.อ.เปรม ตินณสูลานนท์ ควรจะระมัดระวังการนี้อย่างยิ่ง เรื่องนี้ละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง
ตอบลบ