วันพุธที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

สรยุทธ เฉลย เรื่องเล่าเช้านี้ได้เงินจาก SMS ครั้งละกี่บาท






เมื่อเช้าวันที่ 2 มิถุนายน 2557 เป็นวันที่รายการเรื่องเล่าเช้านี้ ก้าวเข้าสู่ปีที่ 12 เป็นวันแรก

พอเริ่มต้นรายการ สรยุทธ ก็เท้าความหลังเล่าถึงวันแรกที่จัดรายการมาจนวันนี้



แต่ประเด็นที่สำคัญคือ สรยุทธอธิบายความถึงรายได้จาก SMS ว่าได้แค่ไหนอย่างไร ตามนี้

".. ว่าเป็นรายการแรก ๆ ในประเทศไทยที่เริ่มต้น SMS ซึ่งก็ต้องฝ่าฟันกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์นะครับว่า ต้องการจะหาเงิน หาทองจาก SMS หรือไม่ สุดท้ายวันนี้พิสูจน์นะครับท่านผุ้ชมครับว่า SMS รายการเราก็ครั้งละ 3 บาท ซึ่งก็เป็นอัตราที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

3บาทที่ว่านี่นี้นะครับ ผู้ให้บริการก็ครึ่งนึงแล้ว ผู้จัดทำระบบครึ่งนึงของครึ่ง ฉะนั้นเหลือแต่ละครั้งก็คือ 75 สตางค์ สำหรับการจัดคนมาดำเนินการ SMS

ซึ่งทั้งหมดนี้รายการไม่ได้มีวัตถุประสงค์เรื่องเงินเรื่องทอง แต่ว่า ฝ่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด เพราะต้องการให้เป็นการจัดรายการร่วมกัน ถ้าเราเข้าไปนั่่งอยู่ในบ้านของท่าน แล้วท่านผู้ชมคุยกับเรา ก็แบบนั้นล่ะครับท่านผู้ชมครับ .." สรยุทธกล่าวในตอนต้นรายการ

คลิกดูรายการเรื่องเล่าเช้านี้วันที่ 2 มิถุนายน 2557 ที่นี่

ผมขอสรุปจากที่สรยุทธ บอกก็คือ

1. SMS ส่งครั้งละ 3 บาท เป็นอัตราราคาต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้

ประเด็นนี้ ผมขอเถียงว่า ไม่จริงครับ เพราะการส่ง SMS ไปในรายการสถานีประชาชน ของไทยพีบีเอส เสียค่าส่ง SMS แค่ครั้งละ 1.50 บาทเท่านั้น โดยที่ทางรายการเคยแจ้งว่า ทางรายการไม่ได้อะไรเลย เพราะทางเครือข่ายสัญญาณมือถือได้ไปทั้งหมด 1.50 บาท

ส่วนรายการเรื่องเล่าเช้านี้ได้ส่วนแบ่งจากค่า SMS ครั้งละ 75 สตางค์

รายการสถานีประชาชนไม่หวังเงินจาก sms จึงส่ง sms ครั้งละ 1.50 บาทเท่านั้น


ตัวอย่าง SMS ในรายการสถานีประชาชน


ผมไม่รู้หรอกนะว่า วันนึง ๆ มีคนส่ง SMS เข้าไปรายการเรื่องเล่าเช้านี้มากแค่ไหน แต่ก็คงไม่น้อยแน่นอน

สมมุติว่า มีคนดูรายการเรื่องเล่าวันละ 3 ล้านคน (จากคนไทยทั้งหมด 64 ล้าน 9แสน 5 หมื่นคน) ถ้า มีคนส่ง SMS สัก 1 % ก็เท่ากับส่ง SMS จำนวน 3 หมื่นครั้งต่อวัน (บางคนส่งหลายครั้งเพื่อหวังของรางวัล)

30,000 ครั้ง คูณ 0.75 บาท = 22,500 บาทต่อวัน 
เดือนนึงจะเป็นเงินเท่าไหร่ก็คูณเอาเองครับ แต่คิดว่า จะมีคนดูส่ง SMS แค่ 1% เท่านั้นเองเหรอ ?


2. รายการเรื่องเล่าเช่านี้ไม่มีวัตถุประสงค์เรื่องเงินเรื่องทองจาก SMS

ประเด็นนี้ ผมก็ไม่ติดใจอะไร มากเท่ากับที่ทางรายการเรื่องเล่าเช้านี้ได้นำของรางวัลมาล่อให้คนส่ง SMS เช่น ช่วงเวลานั้น หรือเวลานี้ กรุณาพิมพ์ข้อความอย่างนั้นอย่างนี้ เพื่อเข้าร่วมการชิงของรางวัลต่าง ๆ ในเวลาแต่ละช่วง

ถามว่า นี่เข้าข่ายการพนันด้วย SMS หรือไม่ เพราะกฎหมายในเรื่องนี้มีอยู่แล้ว

ถามว่า รายการเรื่องเล่าเช้านี้ได้ขออนุญาตในเรื่องการส่ง SMS เพื่อชิงโชคทุกครั้งหรือไม่ ?

ผมจะไม่ติดใจอะไรเลย ถ้ารายการเรื่องเล่าเช้านี้ ไม่มีการนำของรางวัลมาล่อให้คนดูส่ง SMS

ถ้าคุณสรยุทธ บริสุทธิ์ใจจริงว่าไม่ได้ส่งเสริมการพนันผ่านรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ยกเลิกไปเลยได้ไหมกับการแจกของรางวัลล่อคนดูแบบนี้

อีกทั้งถ้าถือว่าเป็นการพนันแฝง ก็จะไม่สามารถควบคุมอายุผู้ส่ง SMS ได้ด้วย ซึ่งทำให้เยาวชนก็มีโอกาสเล่นการพนันแฝงจากการส่ง SMS ได้

ฉะนั้น ถ้าคุณสรยุทธ อยากแจกของรางวัลเพื่อหวังค่าโฆษณาจากสปอนเซอร์ที่เป็นเจ้าของรางวัลด้วย หรือถ้าอยากได้ส่วนแบ่งจาก SMS ก็ตาม ก็อย่าอ้างให้ตนเองดูดีเกินไปครับ พูดตรง ๆ ไปเลย ผมทำไปเพื่อหวังผลกำไร !!

ดังนั้นผมจึงไม่แปลกใจเลย ที่คุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา จะสนิทชิดเชื้อแน่นแฟ้นกับคุณตัน ภาสกรนที

เพราะกรณีอย่างคุณทั้งสองคน บวกกับอีกหนึ่งคนหน้าเหลี่ยม ที่ร่ำรวยและเป็นที่หลงใหลของผู้คนได้มากมายนั้น ก็คงได้เฉพาะในประเทศที่ผู้คนส่วนใหญ่ชอบการพนันและหลงใหลคนรวยเท่านั้นแหละครับ

เมื่อสื่อใหญ่ทำได้โดยไม่มีความผิด ก็ทำให้มีรายการข่าวอื่น ๆ เลียนแบบตาม จนทุกวันนี้กฎหมายที่มีอยู่ก็เป็นเพียงกระดาษเช็ดตูดเท่านั้น

--------------

ทำอย่างไรถึงเรียกว่า การคืนกำไรผู้ชม ?

ก็ไม่ต้องชักชวนให้ผู้ชมส่ง sms เพื่อชิงของรางวัล เช่น บอกให้พิมพ์ข้อความอย่างนั้นอย่างนี้ตามกติกาหรือตามช่วงเวลา

แต่ควรปล่อยให้ผู้ชมส่ง sms ได้ตามสบายเพื่อบอกเล่าข่าว เ หรือแจ้งเหตุการณ์ หรืออื่น ๆ โดยไม่ต้องกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้นเพื่อการหวังชิงโชค

ทางรายการก็แค่บอกว่า วันนี้จะมีของรางวัลอะไรมาแจกผู้ชมที่ส่ง sms ก็พอ แล้วพอจบรายการก็สุ่มผู้โชคดีแล้วแจกของรางวัลไป

---------------

หมายเหตุ 

เมื่อปลายเดือนธันวาคมปี 2557 สรยุทธเปิดให้ผู้ชมส่ง sms ขอตั๋วหนังฟรี 5 หมื่นใบ ได้คนละ 2 ใบ เพียงแค่ไม่ถึง 15 นาทีเท่านั้น sms ก็มาจนครบจำนวนที่ต้องการ

เมื่อต้นเดือนมกราคม 2558 สรยุทธ เปิดให้ผู้ชมส่ง sms มาขอปฏิทินครอบครัวข่าว 2 พันชุด แต่เพียง 5 นาที มี sms ส่งมามากกว่า 1 หมื่น sms จนปฏิทินไม่พอแจก

--------------

สรุป ท้ายบทความ

กฎหมายบ้านเรามันเห่ย แถมระเบียบวินัยและศีลธรรมก็หย่อนยาน จึงเปิดช่องทางให้คนรวยฉลาด ๆ หลอกให้คนไทยที่ชอบอวดฉลาดได้หลงใหลแบบนี้ได้มากมาย

ทั้งกรณี ส่ง SMS ในรายการเล่าข่าวหวังของรางวัล และส่งรหัสใต้ฝาชาเขียวหวังชิงรางวัล ผมว่า นี่คือดัชนีชี้วัดความฉลาดและความโง่ของคนไทยได้ดีอีกทางหนึ่งทีเดียว

แถมคนจำนวนมากโง่แล้วยังไม่รู้ตัว แถมยังออกมาปกป้องนายทุนขายอบายมุขอีกด้วยนะ 

และเมื่อเรื่องเล่าเช้านี้ยังทำได้ ก็มีช่องอื่น ๆ รายการอื่น ๆ เลียนแบบกันต่อ ๆ มา สุดท้ายกฎหมายไม่ถูกบังคับใช้ นี่คือความเสื่อมเรื่องหนึ่งที่ทำให้กฎหมายไทยเราไม่เจริญ

คำคมทิ้งท้าย

"ถ้าโลกนี้คือตลาด คนพวกนึงจะกำไร และคนอีกพวกนึงจะขาดทุน" อิหม่ามอะลีย์ ฮาดีย์ กล่าวไว้

------------

ข่าวไทยรัฐ ปี 54

จี้ออกกฎคุมSMS ชิงรางวัล เข้าข่ายการพนัน




เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ น.ส.จุฑิมาศ สุกใส นักวิจัยโครงการการสำรวจสถานการณ์การเสี่ยงโชคผ่านข้อความสั้นทางโทรศัพท์มือถือ (SMS)กล่าวระหว่างการเสวนา เรื่อง แนวทางการปกป้องเด็กและเยาวชนจากสถานการณ์การเสี่ยงโชคผ่านข้อความสั้นทางโทรศัพท์มือถือ (SMS) ว่า

"การเสี่ยงโชคผ่าน SMS ถือว่าเป็นสิ่งที่ใช้ทดแทนการพนัน ซึ่งพบว่า ผู้ประกอบการจะหาทางใช้วิธีนำเสนอการเสี่ยงโชคในรูปแบบต่างๆ เช่น การเล่นเกมทางทีวี โดยการตอบคำถามชิงรางวัลทาง SMS หรือการดาวน์โหลดเพื่อลุ้นรางวัล รวมไปถึงรายการข่าว ละคร รายการกีฬา ทางสถานีโทรทัศน์ ช่องต่างๆ ที่ให้ผู้ชมร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อแลกรับของรางวัล ส่ง SMS เสียค่าใช้จ่ายครั้งละ 6 บาท และ 3 บาท ที่ล้วนเข้าข่ายการพนัน เป็นช่องทางที่เข้าถึงง่าย ติดง่าย โดยเฉพาะเด็ก เยาวชนจะเกิดการเสพติดในการเสี่ยงโชค ติดการพนันตั้งเเต่เด็ก"

ด้าน นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผอ.สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) กล่าวว่า "ปัจจุบันมีรายการโทรทัศน์ วิทยุ ที่จัดรายการชิงโชคของรางวัล เข้าข่ายผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก เช่น รายการเล่าข่าว ที่ให้ผู้ชมร่วมสนุกตอบคำถาม ซึ่งที่ผ่านมามีการร้องเรียนจากประชาชน ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว ต้องมีการขออนุญาตกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ตาม พ.ร.บ.การพนัน และแม้จะได้รับใบอนุญาตแล้ว จะต้องมีการประกาศข้อความบนหน้าจอโทรทัศน์ว่าได้รับอนุญาตและมีเลขทะเบียนตามกฎหมาย แต่ที่ผ่านมายังไม่มีรายการใดปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว"

นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า "คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. มีหน้าที่ดูแลผู้ประกอบการที่ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือต่างๆ ไม่ให้เอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งหากพบว่าค่ายมือถือ ร่วมกับผู้จัดรายการโทรทัศน์ หรือ วิทยุ ดำเนินการในลักษณะเข้าข่ายการพนัน สามารถ ตักเตือน หรือสั่งระงับได้"

“รายการทีวี ส่วนใหญ่จะมีการขออนุญาตตาม พ.ร.บ.การพนัน แต่มีอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ขออนุญาต โดยเฉพาะการพนันทางอินเทอร์เน็ต และพบว่ารายได้จากการให้ส่ง SMS ชิงโชค สามารถสร้างกำไรให้กับผู้ประกอบการและค่ายมือถือต่างๆ ได้หลายหมื่นล้านบาทต่อปี” นายไพศาล กล่าว

อ่านข่าวเรื่องนี้เพิ่มเติมได้ที่ ไทยรัฐ คลิกที่นี่



----------------

กฎหมาย การส่งข้อความ SMS เพื่อชิงรางวัล

ข้อกฎหมาย
1) พระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 มาตรา 8
2) กฎกระทรวง ฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2503) ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช
2478 ข้อ 4 ข. (4) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 44(พ.ศ. 2548) ฯ ข้อ 1
3) หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0307.2/ว 2384 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2548

การอนุญาต

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้วางระเบียบ ขอบเขตวิธีการรูปแบบการเล่น ผู้มีสิทธิที่จะขออนุญาต และเงื่อนไขที่จะจัดให้มีรางวัลด้วยการเสี่ยงโชคโดยวิธีใด ๆ ในการประกอบกิจการค้าหรืออาชีพตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 ที่ใช้เฉพาะวิธีการส่งข้อความ SMS หรือทางโทรศัพท์ผ่านระบบเลขหมายต่าง ๆ หรือวิธีการอื่นใดที่มีลักษณะคล้ายกันในการทายผลตอบปัญหา หรือแสดงความคิดเห็นเพื่อชิงรางวัล ดังนี้

1) ผู้ขออนุญาตไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ผลิตสินค้าขึ้นเองหรือเป็นผู้แทนจาหน่ายสินค้าแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย

2) การจัดให้มีการแถมพกหรือรางวัลด้วยการเสี่ยงโชคโดยวิธีการส่งข้อความ SMS หรือทางโทรศัพท์ผ่านระบบหมายเลขต่าง ๆ หรือวิธีอื่นใดที่มีลักษณะคล้ายกันในการทายผล ตอบปัญหา หรือแสดงความคิดเห็นเพื่อชิงรางวัลให้ใช้วิธีการเล่นโดยการพิมพ์หมายเลขของผู้ส่งข้อความที่ร่วมรายการดังกล่าว แล้วนามาจับสลากตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตโดยต้องมีผู้รู้เห็นที่น่าเชื่อถือได้ เป็นพยานในการตรวจสอบสลากและการจับสลากด้วยทุกครั้ง ส่วนวิธีการเล่นอย่างอื่นห้ามมิให้อนุญาตโดยเด็ดขาด และให้ทำรายงานข้อมูลของผู้ที่ได้รับรางวัลแจ้งต่อเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตฯ โดยเร็วและมีชื่อ – ชื่อสกุล ที่อยู่ของผู้รับรางวัลพร้อมลายมือชื่อของพยานผู้รู้เห็นในการจับสลากด้วยทุกครั้ง

3) รางวัลสมนาคุณจะต้องระบุว่า เป็นสิ่งของอะไร ราคาเท่าไร และให้พิจารณาว่าราคาพอสมควรที่จะแถมพกหรือให้รางวัลหรือไม่ และห้ามมิให้จ่ายหรือรับเงินแทนการแถมพกหรือรางวัลตามลักษณะข้อจากัดและเงื่อนไขหลังใบอนุญาตฯ เช่น เงินสด บัญชีเงินฝาก เช็ค เป็นต้น

4) กำหนดให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตฯ จะต้องแจ้งหรือแสดงข้อความว่าได้รับอนุญาตแล้วตามใบอนุญาตเล่มที่ เลขที่ และสถานที่ออกใบอนุญาตต่อผู้เข้าร่วมเล่นก่อนจัดให้มีการเล่นดังกล่าวในรายการที่จัดด้วยทุกครั้ง

5) ให้ควบคุม ตรวจสอบผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 โดยเคร่งครัด หากผู้ที่ได้รับอนุญาตไปแล้วรายใดไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ กฎกระทรวง ระเบียบหรือเงื่อนไขดังกล่าวก็ให้ดาเนินการตามกฎหมายแล้วรายงานกระทรวงมหาดไทยด้วย

อนึ่ง หากการจัดดังกล่าวมีเจตนาเพื่อหารายได้จากส่วนแบ่งผลประโยชน์จากการส่งข้อความSMS ฯลฯ หรือเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตพิจารณาแล้วเห็นได้ว่ามีการแบ่งผลประโยชน์จากค่าบริการส่งข้อความ SMS แล้ว ไม่ว่าอัตราส่วนเท่าไร ก็จะไม่เป็นการแถมพกหรือรางวัลด้วยการเสี่ยงโชคฯ และไม่สามารถอนุญาตได้ตามมาตรา 8 อีกทั้งไม่สามารถออกใบอนุญาตเล่นการพนันตามมาตรา 4 ได้เนื่องจากไม่มีระบุไว้ในกฎกระทรวงตามมาตรา 4 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478
ผู้ประกอบการจะต้องขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน โดยสถานที่ยื่นคำร้องขออนุญาตให้พิจารณาว่า หากมีการจับสลากหรือชิ้นส่วนในการชิงรางวัลที่ใด ให้ยื่นคำร้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตแห่งท้องที่นั้น

กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดแนวทางการขออนุญาตการจัดให้มีการแถมพกหรือรางวัลด้วยการเสี่ยงโชค โดยจะอนุญาตให้ใช้วิธีการเล่นได้เฉพาะวิธีการเล่นด้วยการส่งชิ้นส่วนหรือบัตรอื่นๆ มาจับสลากตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตเท่านั้น ส่วนวิธีการเล่นอย่างอื่นห้ามโดยเด็ดขาด หรือกรณีการจัดให้มีการแถมพกหรือรางวัลด้วยการเสี่ยงโชคโดยวิธีการส่งข้อความ SMS หรือวิธีการอื่นใดที่มีลักษณะคล้ายกันในการทายผลแสดงความเห็น ตอบปัญหา ฯลฯ อนุญาตได้เฉพาะใช้วิธีการเล่นโดยการพิมพ์หมายเลขหรือข้อมูลขอผู้ส่งข้อความที่ร่วมรายการ แล้วนำมาจับสลากตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตเท่านั้น ส่วนวิธีการเล่นอย่างอื่นห้ามมิให้อนุญาตโดยเด็ดขาด




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น