วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

การเลือกตั้งของรัฐบาลกบฏยิ่งลักษณ์ ต้องเป็นโมฆะแน่นอน






การเลือกตั้งทั่วไป หมายถึง การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จัดขึ้นพร้อมกันและวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร (ยกเว้นเฉพาะ การเลือกตั้งล่วงหน้า การเลือกตั้งนอกเขต และการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ที่รธน.อนุญาตให้มีการเลือกตั้งก่อนได้)

ฉะนั้นหากการเลือกตั้งทั่วไป ไม่สามารถเกิดขึ้นได้พร้อมกันในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรได้ การเลือกตั้งนั้น ๆ ย่อมไม่ใช่การเลือกตั้งทั่วไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

ผมอยากจะอธิบายว่า เจตนารมณ์ของการเลือกตั้งทั่วไปนั้น คือต้องเป็นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในยามสถานการณ์บ้านเมืองเป็นปกติ ประชาชนทั่วประเทศเห็นพ้องต้องกันว่าอยากจะเลือกตั้ง

เข้าใจคำว่า ทั่วไป ไหมครับ คำว่า การเลือกตั้งทั่วไป ก็คือ ต้องมีการเลือกตั้งอยู่ทั่วไปทั้งประเทศ 

ถ้าการเลือกตั้งไม่เกิดขึ้นพร้อมกันได้ทั่วทั้งแผ่นดิน การเลือกตั้งนั้นย่อมไม่ใช่การเลือกตั้งทั่วไป

ส่วนสาเหตุที่การเลือกตั้ง 2 ก.พ. นี้ ไม่อาจเกิดขึ้นได้พร้อมกันทั่วประเทศ ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลก็โทษว่า เพราะฝ่าย กปปส. ขัดขวาง แต่นั่นมันเป็นปลายเหตุครับ

ส่วนสาเหตุที่ กปปส. มีการต่อต้านขัดขวางกระบวนการเลือกตั้งในหลายเขตนั้น ผมอยากจะย้ำว่า กปปส. มีเจตนาขัดขวางการเลือกตั้งที่ไม่ชอบธรรมไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ใช่ขัดขวางการใช้สิทธิของผู้ต้องการใช้สิทธิเลือกตั้ง

รายละเอียดเรื่องนี้ ผมเขียนไว้ในบทความเรื่อง เหตุผลและทำไม กปปส.ถึงต่อต้านการเลือกตั้ง 2 ก.พ.


------------

รัฐบาลกบฏยิ่งลักษณ์ยังไม่เคยสำนึกผิด

และแม้แต่ตอนนี้ ความล้มเหลวในนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ได้ปรากฏออกมาเรื่อย ๆ แต่ยิ่งลักษณ์ก็ยังไม่ยอมรับว่าตัวเองผิดพลาด

5 ก.พ. 57 ยิ่งลักษณ์ก็ยังออกมายืนยันว่า นโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลไม่ได้ล้มเหลว แต่ถ้าได้เป็นรัฐบาลอีก ก็พร้อมทบทวนว่าจะทำโครงการนี้ต่อหรือไม่ เนื่องจากมีผู้ท้วงติงหลายฝ่าย

ที่ผมติดใจมากคือ ประเด็นส่งคนไปคุมการบินไทย แล้วไปทำการบินขาดทุนยับเยิน จนไอ้คนนั้นมันลาออกหนีความล้มเหลวของมันไปแล้ว แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ไม่เคยแสดงความรับผิดชอบเชิงนโยบายใด ๆ เลยทั้งสิ้น

-------------------------------

การเลือกตั้ง 2 ก.พ. ต้องเป็นโมฆะแน่นอน

1. รัฐธรรมนูญมาตรา 108 กำหนดว่า การเลือกตั้งทั่วไปต้องจัดให้มีขึ้นพร้อมกันในวันเดียวทั่วราชอาณาจักร

แต่ประเด็นที่ การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งภายในวันเดียวกันพร้อมกันทั่วประเทศได้ เราคงต้องรอศาลรัฐธรรมนูญมีวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งจะเป็นโมฆะหรือไม่เท่านั้น

เพราะยังมีความเห็นต่างในข้อกฎหมายระหว่างฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล

ฉะนั้นเมื่อต้องรอคำวินิจฉัยของศาล รธน. ผมว่า เราควรข้ามประเด็นมาตรา 108 นี้ไปก่อน ไปประเด็นต่อไปเลย



2. ไม่สามารถนับคะแนน สส. แบบบัญชีรายชื่อได้

เพราะตามรัฐธรรมนูญสำหรับ สส.แบบบัญชีรายชื่อนั้น จะต้องได้คะแนนจากทุกเขตทุกจังหวัดในประเทศครบถ้วนแล้วเท่านั้น จึงจะสามารถรวมคะแนนแล้วคำนวณหาสัดส่วนจำนวน สส. แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองได้

หากยังไม่ได้คะแนนจากทุกเขตทุกจังหวัดแล้ว ก็ทำให้ กกต.ไม่สามารถประกาศผู้ที่ได้เป็น สส.แบบบัญชีรายชื่อได้เลยแม้แต่คนเดียว

เป็นผลให้ สภาผู้แทนราษฎรจะไม่มีสส.แบบบัญชีรายชื่อทั้งหมด 125 คนในสภา

ซ้ำยังมีประเด็นถกเถียงกันในข้อกฎหมายอีกว่า กกต.สามารถเปิดให้มีการลงคะแนน สส.แบบบัญชีรายชื่อใหม่ได้อีกหรือไม่

เพราะตามรัฐธรรมนูญ สส.แบบบัญชีรายชื่อนั้น เราจะถือว่า ประเทศไทยเป็นเขตเดียวกันเหมือนกันทั้งประเทศ เพราะบัญชีรายชื่อของสส. ในแต่ละพรรคเหมือนกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ และต้องเลือกพร้อมกันวันเดียวกันทั่วประเทศด้วยเช่นกัน

ซึ่งแตกต่างจาก สส.แบบแบ่งเขต ที่ในแต่ละเขตมี สส.คนละคนกัน แตกต่างกัน



3. บางที กกต. อาจใช้ รธน.มาตรา 93 ภายใต้บังคับมาตรา 109 (2) ให้มีการเลือกตั้ง สส. แบบแบ่งเขตใหม่อีก เพื่อให้จำนวน สส. แบบแบ่งเขตให้ครบภายใน 180 วัน (6เดือน)

เพราะตราบใดที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะแล้วล่ะก็  กกต. ก็อาจนำรัฐธรรมนูญมาตรา 93 ภายใต้บังคับมาตรา109 (2) มาใช้เพื่อกำหนดวันเลือกตั้ง สส.แบบแบ่งเขตในเขตที่ยังไม่มีการเลือกตั้งใหม่อีก

แต่มาตรานี้ กกต.เองก็ไม่กล้าใช้เท่าไหร่ เพราะ กกต. ยังไม่แน่ใจในข้อกฎหมายเหมือนกัน เพราะมี 28 เขตที่ยังไม่มีผู้สมัครเลย

แล้วกกต. จะสามารถประกาศรับสมัคร สส. อีกครั้งจะทำได้หรือไม่ (เพราะไม่ใช่เลือกตั้งซ่อม หรือคะแนนผู้สมัครแพ้โหวตโนหรือมีคะแนนน้อยกว่า 20% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง)

กกต. เองก็หวั่นว่าจะผิดกฎหมายเสียเอง แล้วต้องมารับผิดชอบฝ่ายเดียวในภายหลัง

แต่ฝ่ายรัฐบาลรักษาการพยายามจะกดดันให้ กกต. ใช้มาตรานี้ในการเลือกตั้งใหม่เพื่อให้ได้จำนวน สส. แบบแบ่งเขตครบตามจำนวน ภายใน 6 เดือน

(รัฐบาลพยายามโยนให้กกต.ต้องรับผิดชอบแต่เพียงฝ่ายเดียว คือ ถ้าพลาดขึ้นมา กกต. ก็ชวยแต่ฝ่ายเดียวเช่นกัน)


4. เมื่อยังมีการลงคะแนนไม่เสร็จ แต่ผลการเลือกตั้งกลับประกาศออกมาแล้ว

คือตอนนี้มีผลการเลือกตั้งในหลายจังหวัดออกมาแล้วว่า ใครได้คะแนนเท่าไหร่ ใครได้เป็น สส.

ฉะนั้นถ้ายังจัดให้มีการเลือกตั้งในเขตที่ยังไม่มีการเลือกตั้งอีก ก็เท่ากับว่า เป็นการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใส เพราะมีผลได้ผลเสียจากการล่วงรู้คะแนนกันแล้ว โดยเฉพาะการเลือกตั้งล่วงหน้าและการเลือกตั้งนอกเขตที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งซ้ำอีก

ฉะนั้นการเลือกตั้ง 2 ก.พ. จึงไม่ใช่การเลือกตั้งทั่วไป ย่อมเป็นการเลือกตั้งที่เป็นโมฆะแน่นอน

---------------------

ผมจึงขอสรุปเลยว่า ตราบใดที่ 28 เขตของภาคใต้ยังไม่มีผู้สมัคร สส.  หรือยังไม่สามารถจัดการเลือกตั้งเพื่อหาสส.แบบแบ่งเขต ได้อีกในภาคใต้อีกหลายจังหวัด ภายใน 6 เดือน

การเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกายุบสภา 2556 ครั้งนี้ จะต้องเป็นการเลือกตั้งที่เป็นโมฆะทันที โดยไม่ต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ฉะนั้น ความหวังในการทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะโดยอัตโนมัติ จึงเป็นเรื่องของพี่น้องชาวใต้จัดการ

------------------------

ระหว่างการรอช่วงนี้อีก 6 เดือน ก็ต้องต่อสู้เพื่อขับไล่รัฐบาลกบฏยิ่งลักษณ์ต่อไป

ซึ่งหากมองในแง่กฎหมายอีกแบบ รัฐบาลรักษาการจะต้องพ้นจากการรักษาการหลังมีการเลือกตั้งภายใน 30 วัน เพราะจะต้องเปิดสภาเพื่อเลือกสรรนายกรัฐมนตรี

แต่เมื่อไม่สามารถเปิดสภาได้ เพราะจำนวนสส.ไม่ครบตามกฎหมาย ก็ไม่สามารถมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้

ดังนั้นจึงมีผู้เสนอว่า ควรให้วุฒิสภาทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มาจากวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งก็ได้ หรือจะให้มาจากคนกลางตามมาตรา 7 ก็ได้ เพราะนี่คือสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

แต่ฝ่ายรัฐบาลรักษาการยิ่งลักษณ์ ไม่ยอมรับข้อเสนอกฎหมายประเด็นนี้ ยังเกาะมาตรา 181 เพื่อรักษาการต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง !!

จนเมื่อการเลือกตั้งได้เป็นโมฆะแล้ว ไม่ว่าจะด้วยคำวินิจฉัยของศาล หรือเพราะโมฆะเพราะครบ 6 เดือนยังไม่สามารถมี สส. ครบองค์ประชุมก็ตาม

รัฐบาลกบฏยิ่งลักษณ์ก็ยิ่งหมดความชอบธรรมที่จะอยู่รักษาการอีกต่อไป เพราะได้สร้างความเสียหายจากการดื้อด้านเดินหน้าเลือกตั้งทั่วไปที่ไม่ชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ

ฉะนั้น กปปส. จะชนะรัฐบาลชั่วนี้ได้แน่นอน ในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน (หรือเร็วกว่านั้น) เพียงแต่ต้องอดทนฟันฝ่าการส่งคนมาลอบกัดทำร้ายจากฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลให้ได้

หรือถ้า ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดบรรดาสส. 300 กว่าคนกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งชี้มูลความผิดยิ่งลักษณ์ในกรณีนโยบายจำนำข้าวได้เร็ว ชัยชนะของมวลมหาประชาชนก็จะมาเร็วกว่าที่คาดไว้ครับ


------------------

อัพเดท 12 ก.พ.57

ทำไมศาลรัฐธรรมนูญ ไม่รับวินิจฉัยคำร้องการเลือกตั้งเป็นโมฆะของอดีต สส. ประชาธิปัตย์








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น