วันพุธที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2558

แนะวิธีเก็บภาษีบ้านและที่อยู่อาศัยแบบไม่ขูดรีดประชาชน







เกริ่นยาวหน่อยนะ

ประเด็นร้อนของสังคมไทยในช่วงหลายวันนี้คือ เรื่อง รัฐบาล คสช. โดยนายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง จะปฏิรูปการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ ซึ่งประเด็นที่ถูกวิจารณ์และคัดค้านมากที่สุดคือ หมวดภาษีบ้านและที่อยู่อาศัย ซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า แพงเกินไป

ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่า ทำไมรัฐบาล คสช. ถึงพยายามหาทางจัดเก็บภาษีต่าง ๆ มากขึ้น ?

คำตอบคือ เพราะรัฐบาลมีภาระหนี้สินที่รัฐบาลก่อน ๆ สร้างไว้หลายอย่าง เช่น ในโครงการจำนำข้าวที่ขาดทุนกว่า 5 แสนล้านบาท และยังไม่จบสิ้น เพราะทุกวันนี้รัฐบาลยังต้องจ่ายค่าเช่าโกดังเก็บข้าวตกเดือนละ 2 พันล้านบาท

เพราะขนาดรัฐบาล คสช. ได้ออกพันธบัตรสุขกันเถิดเรา ดอกเบี้ยสูง ในวงเงิน 1 แสนล้านบาท ไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อนำไปใช้หนี้ในโครงการจำนำข้าว แต่ปรากฎว่า ขายพันธบัตรสุขกันเถิดเราได้เพียง 5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น เพราะประชาชนจำนวนมากฉลาดพอ จึงไม่ต้องการซื้อพันธบัตรนี้เอาไปใช้หนี้แทนยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ในเมื่อรัฐบาลไทยมีภาระหนี้จำนวนมากที่ต้องจ่ายตามกำหนด แถมรัฐบาลยังต้องมีโครงการสาธารณูปโภคอีกมากมายที่ต้องเร่งทำ

รัฐบาลก็จำเป็นต้องหาเงินให้มากขึ้น แต่ที่ผ่าน ๆ มารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะไม่ค่อยกล้าแตะเรื่องขึ้นภาษี เท่าไหร่ เพราะกลัวจะเสียคะแนนนิยม เห็นมีแต่จะลดภาษีเพื่อเอาใจนายทุนพวกเดียวกัน

เช่น รัฐบาลยิ่งลักษณ์เคยลดภาษีนิติบุคคล อ้างเพื่อกระตุ้นการลงทุน แต่ที่ไหนได้ มันคือนโยบายผลประโยชน์ทับซ้อนที่พวกพ้องของตน กิจการของตนก็พลอยได้ผลประโยชน์ไปด้วย

แต่รัฐบาล คสช. อ้างว่า รัฐบาลนี้ไม่ต้องการคะแนนเสียง เพราะไม่ใช่รัฐบาลของพรรคการเมือง จึงขอลงมาปฏิรูปเรื่องภาษี แต่ก็ไม่วายโดนด่า โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีบ้านและที่อยู่อาศัย

เพราะที่ผ่านมา บ้านและที่อยู่อาศัยจะได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษีมาตลอด ตามมาตรา 10 พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475

มาตรา 10 โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นๆ ซึ่งเจ้าของอยู่เองหรือให้ผู้แทนอยู่เฝ้ารักษา และซึ่งมิได้ใช้เป็นที่ไว้สินค้าหรือประกอบการอุตสาหกรรม ท่านให้งดเว้นจากบทบัญญัติแห่งภาคนี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นไป

ซึ่งจากมาตรา 10 ก็เกิดการได้เปรียบของบรรดาเศรษฐีที่มีบ้านใหญ่โต แถมยังมีบ้านพักตากอากาศอีกหลายหลังที่ไม่ต้องเสียภาษี รวมถึงการซื้อบ้านเพื่อการขายเก็งกำไร

(เท่าที่ทราบ ภาษีบ้านและที่อยู่อาศัย รัฐบาลจะให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นจัดเก็บ เพื่อรัฐบาลกลางจะได้ลดภาระในการอุดหนุนงบให้กับองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ)

ถ้าตามหลักการว่า จะต้องเก็บภาษีบ้านและที่อยู่อาศัยนั้น ผมเห็นด้วย แต่วิธีการเก็บตามแนวทางของนายสมหมาย ภาษี ผมไม่เห็นด้วยเด็ดขาด

------------------------

การจัดเก็บภาษีบ้านต้องยึดขนาดที่ดินเป็นหลัก ไม่ใช่ยึดที่ราคาบ้านเป็นหลัก

เพราะบ้านคือปัจจัยพื้นฐานของครอบครัว รัฐบาลมีหน้าที่สนับสนุนให้ประชาชนมีบ้านเป็นของตัวเองโดยง่าย

ปัจจุบันนี้ บ้านขนาดไม่เกิน 50 ตร.วา ถือว่า เป็นขนาดที่พอเพียงสำหรับครอบครัวเดี่ยวขนาดเล็ก ๆ หรือถ้าจะให้สะดวกสบายขึ้นมาอีกนิด ก็อาจจะไม่เกิน 100 ตร.วา ซึ่งถือเป็นขนาดที่พอเพียงไม่ฟุ้งเฟ้อเกินไป

การที่รัฐบาลคิดจะเก็บภาษีบ้าน โดยยึดที่ราคาบ้านเป็นฐานคิดภาษี ถือเป็นการคิดที่ผิดมหันต์ เพราะคนเราจะมีบ้านสักหลัง ก็อยากจะทำให้บ้านน่าอยู่ที่สุดตามกำลังและตามอัตภาพ

เช่น บ้านขนาด 50 ตร.วา ถ้าเจ้าของเขาอยากจะสร้างให้ดีให้มีคุณภาพสูง จะให้สวยอย่างไร ในที่ 50 ตร.วา ก็ควรจะปล่อยให้เขาได้สร้างอย่างสบายใจ

ไม่ใช่ว่า พอสร้างบ้านดีเกินไป สวยเกินไป เดี๋ยวจะซวย เพราะจะโดนรัฐมาประเมินว่าบ้านราคาแพง ก็จะโดนเก็บภาษีแพงตาม

เท่ากับรัฐบาลกำลังจะปิดกั้นความสุขสบายและเสรีภาพของประชาชนในทางอ้อม

หลักการของการมีบ้าน หากเขามีบ้านที่ไม่ได้ใหญ่โต มีขนาดพอเหมาะพอควร ไม่ว่าจะมีบ้านอยู่ที่ใดในประเทศไทย ก็ควรได้รับการเก็บภาษีบ้านในราคาที่เท่ากัน โดยดูจากขนาดของบ้านไม่ใช่ประเมินราคาบ้าน

การที่รัฐจะประเมินราคาบ้านว่า บ้านจะถูกบ้านจะแพง มันต้องมีราคาที่ดินมาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งนั่นจะสร้างความไม่เป็นธรรมแก่คนไทยโดยรวม เพราะจะกลายเป็นว่า คนกรุงเทพฯ จะซวยที่สุดจากการที่ต้องซื้อบ้านและที่ดินแพงกว่าทุกจังหวัดอยู่แล้ว ยังต้องซวยเพราะโดนเก็บภาษีแพงหนักเข้าอีก เพียงเพราะเขาเป็นคนกรุงเทพ ฯ อย่างนั้นหรือ ?

คนกรุงเทพฯ จำนวนมากไม่ได้อยากอยู่กรุงเทพนะครับ แต่มันจำเป็นที่ต้องอยู่ต่างหาก

เช่น คนสีลมที่อยู่มาเก่าแก่กว่า 40-50 ปี มีบ้านและที่ดินขนาด 50 ตร.วา ตกทอดมาจนถึงลูกหลาน ถ้าเขารักษาบ้านขนาด 50 ตร.วาไว้จนวันนี้ได้ หากรัฐบาลมาประเมินราคาบ้านและที่ดินของเขาว่า ราคาหลังละ 50.5 ล้านบาท คือราคาที่ดิน 50 ล้านบาท เป็นตัวบ้านราคา 5 แสนบาท แล้วต้องโดนภาษี 0.1 % ก็เท่ากับต้องจ่ายภาษีบ้านปีละ 5 หมื่นบาทกระนั้นหรือ ? (แม้ต่อไปอาจกำหนดเพดานสูงสุดจ่ายไม่เกินปีละเท่าไหร่ก็ตาม)

แบบนี้เท่ากับบีบให้คนที่ไม่ได้ร่ำรวย แต่เผอิญอยู่มาเก่าแก่ในเขตที่ดินราคาแพงอยู่ต่อไปไม่ได้

หรืออย่างเช่น บ้านในแถบลาดพร้าว ที่เมื่อสัก 30 -40 กว่าปีที่ผ่านมา เป็นย่านที่บูมมากเรื่องบ้านจัดสรร ซึ่งมีหมู่บ้านหลายแห่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปีมากมาย โดยมากบ้านจัดสรรขนาดนิยมสร้างที่สุดคือ 50 - 100 ตร.วา โดยราคาบ้านเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ตกหลังละไม่กี่แสน

หลายบ้านที่มีอายุเกิน 30 ปีไปแล้ว หากบ้านไหนมีทุนทรัพย์มากพอ ก็มักจะทุบบ้านเก่าทิ้งแล้วสร้างบ้านใหม่ แต่ก็มีบ้านอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ทุบสร้างใหม่ แล้วแบบนี้จะประเมินราคากันอย่างไร ?

เช่น บ้านที่อยู่ติดกันขนาด 50 ตร.วา บ้านนาย ก. เป็นบ้านเก่ากว่า 30 ปี ซื้อมาในราคา 2 แสนบาทเมื่อ 35 ปีที่แล้ว ขณะที่บ้านนาย ข. ที่อยู่ติดกันซื้อพร้อมกันในราคาเดียวกัน แต่ต่อมานาย ข.ได้ทุบบ้านเก่าอายุกว่า 30 ปีทิ้งไป แล้วสร้างบ้านใหม่บนพื้นที่เดิม โดยมีค่าก่อสร้างที่ 1.5 ล้านบาท

แล้วแบบนี้ ทางรัฐบาลจะประเมินราคาบ้านและที่ดินระหว่างบ้านของนายก. และนายข. อย่างไรจึงจะเกิดความยุติธรรม ?

ซึ่งในหมู่บ้านเก่า ๆ อายุเกิน 20 ปีขึ้นไป มีการทุบบ้านเก่าแล้วสร้างบ้านใหม่มากมาย แบบแปลนและความสวยงามก็ขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์ของแต่ละบ้าน

การที่รัฐบาลจะประมินภาษีด้วยการคิดจากราคาบ้าน จะเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ความไม่เท่าเทียมกันอย่างแน่นอน และอาจเปิดช่องให้เกิดการทุจริตของเจ้าหน้าที่ที่มาประเมินราคาได้เช่นกัน

ดังนั้น ไม่ว่าใครจะสร้างบ้านแพง บ้านหรู บ้านเก่า หรือบ้านกระต๊อบ หากอยู่ในพื้นที่เท่ากันก็ควรคิดภาษีเท่ากัน จึงจะเป็นธรรมที่สุด 

เช่น ไม่ว่าบ้านจัดสรรขนาด 50 ตร.วา  จะอยู่ที่ศรีสะเกษ หรือจะอยู่ที่กรุงเทพฯ ก็ควรจะจ่ายภาษีบ้านที่อยู่อาศัยเท่ากัน

หากรัฐบาลจะประเมินภาษีจากราคาบ้าน ก็ทำให้หลายคนคิดว่า ชักไม่อยากสร้างบ้านใหม่ หรือซื้อบ้านใหม่ เพราะไหนจะภาระผ่อนราคาบ้าน ยังมาโดนซ้ำเติมจากภาษีบ้านราคาแพงอีก

------------------------

ตัวอย่างอัตราภาษีบ้านและที่อยู่อาศัย ในความเห็นของผม

ผมมองว่า การที่คนไทยจะมีบ้านขนาดไม่เกิน 50 ตร.วา ถือว่า พอเพียงไม่ฟุ้งเฟ้อ 

ที่จริง รัฐบาลควรยกเว้นภาษีบ้านที่เนื้อที่ไม่เกิน 50 ตร.วา ด้วยซ้ำ

แต่เพราะพลเมืองไทยทุกคนควรมีหน้าที่จ่ายภาษีบ้านและที่ดิน เพื่อผลประโยชน์โดยรวมของประเทศชาติ

ผมจึงเห็นว่า ถ้าบ้านขนาดที่ดินไม่เกิน 50 ตร.วา ควรคิดภาษีที่อัตรา ตารางวาละ 5 บาทก็พอ เพราะการที่จะให้พลเมืองไทยเสียภาษีในเรื่องใหม่ ก็ไม่ควรเริ่มต้นในอัตราที่แพงจนคนต่อต้าน

อัตราแนะนำภาษีบ้านและที่อยู่อาศัยทั้งประเทศเท่าเทียมกันในเขตเมือง ดังนี้

บ้านขนาดที่ดินไม่เกิน 50 ตร.วา ควรมีอัตราภาษีตารางวาละ 5 บาท (ตกปีละไม่เกิน 250 บาท)

บ้านที่ขนาดที่ดิน 50 ตร.ว.ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 100 ตร.วา ควรมีอัตราภาษีตารางวาละ 7 บาท  (ตกภาษีปีละไม่เกิน 700 บาท)
(หรือจะคิดอัตราขั้นบันได โดย 50 ตร.วา แรก ยังคิดที่อัตรา ตร.วา ละ 5 บาท)


บ้านที่ขนาดที่ดิน 100 ตร.วา ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 400 ตร.วา (1 ไร่) ควรมีอัตราภาษีตารางวาละ 10 บาท  (ตกภาษีปีละไม่เกิน 4,000 บาท)
(หรือจะคิดอัตราขั้นบันได โดย 100 ตร.วา แรก ยังคิดที่อัตรา ตร.วา ละ 7 บาท)

บ้านที่มีขนาดที่ดิน 400 ตร.วา ขึ้นไป อัตราภาษีตารางวาละ 20 บาท เป็นต้น และอาจคิดในอัตราภาษีก้าวหน้าขึ้นไปอีกในขนาดบ้านที่ใหญ่กว่า 2 ไร่ขึ้นไปเพราะใหญ่เกินความพอดีแล้วล่ะ 

 แล้วค่อย ๆ เพิ่มอัตราภาษีทุก ๆ 5 ปี


ากที่ผมยกตัวอย่างอัตราภาษีบ้านและที่อยู่อาศัยข้างต้นนั้น ผมว่า เป็นอัตราที่คนส่วนใหญ่น่าจะพอรับได้ เช่น ทาวน์เฮ้าส์ขนาด 30 ตร.วา ก็จ่ายแค่ปีละ 150 บาทเท่านั้น ซึ่งไม่ได้มากมายอะไร

แต่ถ้ารัฐบาล คสช. โดยเฉพาะท่านนายกฯ ประยุทธ์ ยังเห็นว่า อัตราภาษีที่ผมแนะนำยังแพงไป ก็ลดลงอีกก็ได้ หรืออาจจะเพิ่มกว่านั้นอีกนิดหน่อยก็ได้ เช่น บ้านขนาดไม่เกิน 50 ตร.วา อาจคิดภาษีอัตรา ตร.วาละ 10 บาทต่อปี เป็นต้น (แล้วขนาดพื้นที่อื่น ๆ ก็เพิ่มขึ้นเป็นอัตราละ 15 , 20 บาทตามลำดับ)

----------------------

เจ้าของบ้านเป็นผู้สูงอายุ ควรได้รับการยกเว้นภาษีบ้านที่อยู่อาศัย

เวลาเราจะออกกฎหมายหรือนโยบายอะไร สิ่งสำคัญที่สุด ควรนึกถึงคนที่เดือดร้อนที่สุดก่อนเสมอว่า พวกเขาจะได้รับผลกระทบอย่างใด

อย่างเช่น คนเฒ่าคนแก่ ผู้สูงอายุไทยจำนวนมากไม่ได้เป็นข้าราชการบำนาญ พวกเขาจึงไม่มีรายได้ หลายคนก็ไม่มีลูกหลานเลี้ยง หลายคนหวังอาศัยเงินเก็บออมมาตลอดชีวิตเพื่อใช้ให้เพียงพอยามบั้นปลายชีวิต

อยู่ ๆ อุตส่าห์ผ่อนบ้านมา 30 ปีจนเกษียณ แต่แล้วจู่ ๆ ยังโดนภาระเรื่องภาษีบ้านอีก แบบนี้คงได้อดตายก่อนแก่ตาย

ดังนั้น ผมจึงมีข้อเสนอว่า ผู้สูงอายุที่อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป (เอกชนเกษียณอายุ) ที่เป็นเจ้าของบ้านมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี ควรได้รับการยกเว้นภาษีบ้านหลังแรกในขนาดเนื้อที่ไม่เกิน....?? ด้วย (ส่วนบ้านหลังต่อไปไม่มีการยกเว้นภาษี)

ลองคิดดู รัฐบาลจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท ปีละ 7,200 บาท ดันจะมาเอาภาษีกับคนชราคืนไปจากภาษีบ้านเสียแล้ว

เช่น ถ้าคนชราอายุ 60 ปี มีบ้านเนื้อที่ 100 ตร.วา ในกรุงเทพฯ มีราคาประเมิน ที่ 10 ล้านบาท (ซึ่งคิดจากราคาที่ดินเป็นส่วนใหญ่) ก็จะโดนภาษีไปปีละหมื่นบาทเข้าไปแล้วจริงไหม ? (อัตราภาษีของนายสมหมายคือ 0.1%ของราคาบ้าน ยังไม่ทราบราคาเพดานสูงสุด)

เท่ากับว่า เงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุปีละ 7,200 บาทก็ยังไม่พอจ่ายภาษีบ้านที่อยู่อาศัยเลย

ตัวอย่างเช่น ป้าแก่ ๆ คนนึงที่ผมรู้จักมานาน ป้ามีอายุ 79 ปี ป้ามีบ้านย่านปากทางลาดพร้าว ที่ดินเดิมก็เป็นบ้านของชาวนาเก่าต้้งแต่รุ่นพ่อของป้า โดยขนาดเนื้อที่บ้านป้าคนนี้คือประมาณ 1 ไร่ ก็อุตส่าห์รักษาที่ดินบ้านมาจนถึงวันนี้

แต่ราคาที่ดินตรงนั้น ตารางวาละ 1 แสนบาทขึ้นไป ลูกหลานที่อยู่ด้วยก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไร แบบนี้คงโดนภาษีอ่วม ทั้ง ๆ ที่อยู่มาแต่เก่าก่อนกว่า 70-100 ปี

---------------------

สำหรับภาษีคอนโดมิเนียม

ความเห็นส่วนตัวผมนะ คนที่อยู่คอนโดมีเนียมไม่ได้ดีกว่าอยู่บ้านเลย (แม้หลายแห่งจะเป็นคอนโดหรูก็ตาม) เพราะไหนจะจ่ายค่าน้ำที่แพงกว่า ค่าส่วนกลางที่ส่วนใหญ่จะแพงกว่าค่าส่วนกลางของหมู่บ้าน แถมมีความเสี่ยงอันตรายมากกว่า (ยิ่งสูงยิ่งเสี่ยง) 

จริง ๆ อาจมองว่า ผู้อาศัยในคอนโดมิเนียมเป็นผู้เสียสละด้วยซ้ำ ที่เสียสละไปอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากในที่ดินผืนเดียวกัน

คนที่อาศัยในคอนโดมิเนียม ในความเห็นส่วนตัวของผม เห็นว่า ควรเก็บภาษีคอนโดฯ ถูกกว่าภาษีบ้าน ครับ

---------------------

บทสรุปบทความ

บทความนี้ผมเขียนเฉพาะภาษีบ้านและที่อยู่อาศัยเท่านั้น ส่วนเรื่องภาษีที่ดินเปล่าประโยชน์ซึ่งควรเก็บมากที่สุด ผมยังไม่มีความเห็นอะไรในตอนนี้

แต่ผมเห็นด้วยที่ รัฐบาลจะเก็บภาษีบ้านและที่อยู่อาศัย เพื่อนำเงินไปพัฒนาประเทศให้ดีขึ้น แต่ที่เขาเกรงกันคือ เงินนั้นจะได้ประโยชน์จริงแค่ไหน จะไปอยู่ในมือข้าราชการที่โกงกินแค่ไหน (พวก อบต.จะมีเงินเที่ยวเมืองนอกมากขึ้นใช่ไหม)

และการที่รัฐบาลจะเก็บภาษีโดยคิดจากราคาบ้านเป็นหลัก ย่อมทำให้เกิดความลักหลั่นในราคาประเมิน และเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบซึ่งกันและกันในบ้านละแวกเดียวกันที่มีขนาดที่ดินเท่า ๆ กัน จนเกิดความไม่เป็นธรรม

หากเราคิดว่า คนเราทุกคนมีความเท่าเทียมกันที่จะมีบ้านและที่อยู่อาศัยได้ ก็ควรคิดฐานภาษีจากเนื้อที่ของบ้านเป็นหลัก เพื่อจะได้เกิดความเป็นธรรมที่สุด

สุดท้ายขอแนะนำว่า พื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ควรได้รับการยกเว้นภาษีบ้านและที่อยู่อาศัย

ส่วนคุณผู้อ่านมีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร ก็ลองแสดงความเห็นมาครับ ช่วย ๆ กันเสนอ ก่อนที่จะสายเกินไป

-----------------

รายการตอบโจทย์ 11 มีนาคม 2556 กับ นายสมหมาย ภาษี กรณีภาษีบ้านและที่อยู่อาศัย

ผมฟังแกพูดแล้ว ผมหงุดหงิดจริง ๆ




คลิกอ่าน ปฏิรูปภาษีที่ดินว่างเปล่าและการผ่อนบ้านที่เอาเปรียบคนไทยมานาน




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น