วันเสาร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

เสียดายที่นายอภิสิทธิ์ ไม่เสนอทางออกประเทศไทยแบบนี้







สุดท้ายสิ่งที่นายอภิสิทธิ์แบไต๋ออกมาก็ไม่มีอะไรใหม่ เพราะนั่นก็คือ แนวทางเดิมของ กปปส. อยู่แล้ว 

ไม่รู้นายอภิสิทธิ์จะออกมาเสนอทำไมให้เจ็บตัวเปล่า ผมเคยเดาว่า นายอภิสิทธิ์จะเสนอทางออกประเทศไทยว่า จะมาตามแนวในบทความนี้

สุดท้ายนายอภิสิทธิ์กลับไม่มีอะไรแปลกใหม่

-----------------------------

ถ้านายอภิสิทธิ์เสนอทางออกประเทศไทยแบบนี้จะดูฉลาดกว่า 

สิ่งที่นายอภิสิทธิ์ควรเสนอก็คือ ให้ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ และ พรรคเพื่อไทย ต้องเสียสละเว้นวรรคทางการเมืองร่วมกัน หมายถึง ทั้งสองพรรคใหญ่ต้องไม่ลงเลือกตั้งในครั้งต่อไป เพื่อลดคู่ขัดแย้งในประเทศไทยลงได้ส่วนหนึ่ง

แต่ก็ยังให้ กกต. ได้จัดการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ต่อไป เหมือนเดิม

และถ้าจะให้ดีกว่านั้น นายอภิสิทธิ์ควรจะเสนอให้พรรคการเมืองใหญ่ในอันดับ 2 3 และ 4 เรื่อยไปจนถึง พรรคการเมืองเล็กๆ ที่เคยได้มี สส. อยู่ในสภาครั้งก่อน ควรเว้นวรรคทางการเมืองร่วมกันทุกพรรคด้วย

เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสเข้ามาปฏิรูปประเทศไทยใหม่ โดยปราศจากกลุ่มการเมืองเก่า กลุ่มอำนาจเก่า เท่าที่จะพอทำได้

โดยนายอภิสิทธิ์อาจขอร้องให้มีการข้อตกลงร่วมกันกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กกต. และพรรคการเมืองอื่น ๆ ที่เคยมี สส. ในสภาครั้งล่าสุดว่า

จะขอใช้มาตรา 7 เพื่อขอหยุดการบังคับใช้ในรัฐธรรมนูญบางข้อ เช่น หยุดข้อบังคับที่ว่า สส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อเปิดทางให้คนไทยที่มีคุณสมบัติครบที่จะสมัคร สส.ได้  แต่ว่าไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใด ๆ เลย ได้มีโอกาสลงเลือกตั้งเป็น สส. ได้ทุกคน

ที่สำคัญคืออาจต้องเพิ่มข้อบังคับใหม่ในกติกาการเลือกตั้งว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะต้องไม่เคยมีคนที่เคยเป็น  สส. มาก่อนในชีวิตลงสมัครเลือกตั้งอีกด้วย (รวมทั้งลูก เมีย พี่น้อง พ่อแม่ ของอดีต สส. ก็ห้ามลงเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย)

ก็เพื่อให้เกิด สภาประชาชน ที่แท้จริง ซึ่งเป็นสภาประชาชน ที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนตามรัฐธรรมนูญ เพื่อเข้ามาปฏิรูปประเทศไทยเป็นการเฉพาะ เพื่อการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่ให้มีนักการเมืองในกลุ่มอำนาจเดิม ๆ มาเกี่ยวข้องกับการปฏิรูป

-----------------

สภาประชาชน ที่มาจากการเลือกตั้ง

ถ้านายอภิสิทธิ์ ได้เสนอ สภาประชาชน ตามแนวที่ผมว่า จะเป็นการดีไม่น้อย

เพราะสภาประชาชน นี้มาจากการเลือกตั้งทั่วประเทศ จะไม่จำกัดว่าต้องมีกลุ่ม กปปส. หรือ มีแต่ กลุ่ม นปช. เสื้อแดง เท่านั้น

แต่ที่สำคัญที่ดีมากคือ สภาประชาชน ชุดนี้ จะต้องไม่มีพรรคการเมืองหน้าเดิม ๆ สส. หน้าเดิม ๆ เข้ามายุ่งในการปฏิรูปประเทศไทย

เพราะนักการเมือง พรรคการเมือง ย่อมไม่แก้ไขอะไรที่อาจเป็นโทษแก่พวกพ้องและตัวเองในภายหลัง เช่น

เรายังไม่เคยเห็นพรรคการเมืองไหน เสนอแก้กฎหมายให้ลงโทษสูงสุด ด้วยการประหารชีวิตนักการเมืองที่คอร์รัปชัน ทั้ง ๆ ที่ปัญหาคอร์รัปชันของระบบราชการและระบบการเมืองไทย รุนแรงมากกว่าปัญหายาเสพติดด้วยซ้ำ เพราะนี่คือรากฐานของการพัฒนาประเทศในทุกด้าน

หรือ เราไม่เคยมีพรรคการเมืองไหนเสนอแก้กฎหมายให้ความผิดจากข้อหาคอร์รัปชันให้ไม่มีหมดอายุความ 


เมื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองหน้าใหม่ หรือ คนไทยที่ไม่สังกัดพรรคการเมืองใด ๆ เลย ได้เข้ามาลงเลือกตั้ง สส. ครั้งนี้ได้ 

แบบนี้ก็จะเรียกได้ว่าเป็น สภาประชาชน ที่มาจากการเลือกตั้ง แถมยังได้ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพื่อเป็นผู้นำในการปฏิรูปประเทศไทย ที่มาจากการเลือกตั้ง สส. อีกด้วย 


และที่สำคัญที่สุด รัฐบาลสภาประชาชนนี้จะต้องลงสัตยาบัน หรือต้องมีการออกบทเฉพาะกาล โดยข้อแม้ว่า จะมาทำงานเพื่อการปฏิรูประเทศไทยเท่านั้น อายุรัฐบาลอาจสั้นแค่ 2 ปี เมื่อปฏิรูปเสร็จ ต้องยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่

และต่อไป สส. ในสภานี้จะต้องหมดสิทธิเล่นการเมืองตลอดชีวิต 


----------------

สรุป

แน่นอน วิธีนี้อาจไม่ได้สกัดร่างทรงพรรคการเมืองได้ 100 % แต่การที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองมาลงเลือกตั้งได้ ก็ย่อมทำให้มีคนเก่ง คนดัง คนดี จำนวนมาก ที่ไม่ได้อยากเล่นการเมือง มาลงเลือกตั้งครั้งนี้เพื่อปฏิรูปประเทศไทยกันใหม่

การที่มีตัวเลือกในผู้สมัครมากขึ้น จะทำให้สกัดร่างทรงพรรคการเมืองได้ดีพอควร เพราะสภาประชาชนนี้จะต้องออกกฎหมาย ห้ามสมาชิกในสภานี้เล่นการเมืองไปตลอดชีวิตด้วย

ทีนี้เราจะได้คนที่พร้อมจะเสียสละเพื่อชาติเข้ามาลงสมัครจริง ๆ เพราะพวกเขาไม่ได้มาปฏิรูปเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้องในอนาคต


---------------

ถ้ามาร์คเสนอแบบนี้นะ จะไม่โดนวิจารณ์ว่า นำของเก่ามาหากินใหม่ แถมยังเป็นข้อเสนอที่แตกต่างไปจากที่คนอื่น ๆ เคยสนอมา

ต้องขออภัยคุณอภิสิทธิ์ ที่เด็กจบอ๊อกเหล็กอย่างผม ขอบังอาจชี้แนะ

แต่ส่วนตัวของผู้เขียนบทความนี้ ยึดตามแนวทางของ กปปส. เท่านั้นครับ


คลิกอ่าน เมื่อนายอภิสิทธิฺกลับลำ กับข้อเสนอทางออกประเทศไทย





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น