ขอเริ่มด้วย ทำไมผู้ที่จะบวชพระต้องขออนุญาตจากพ่อแม่ก่อน
ในครั้งพุทธกาลมีกุลบุตรจำนวนมากออกบวช บางคนมีลูกมีเมียอยู่ก็หนีมาบวช บางคนก็หนีพ่อหนีแม่มาบวช
ในพรรษาที่ ๒ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จนิวัติกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงแสดงธรรมโปรดพระญาติ พระเจ้าสุทโธทนะจนสำเร็จเป็นพระอนาคามี พระนางประชาบดี พระนางพิมพา จนสำเร็จเป็นพระโสดาบัน
วันที่สามพระพุทธเจ้าชวนเจ้าชายอานันทะพระอนุชาแท้ ๆ มาบวช (ทั้งที่วันนี้เจ้าชายอานันทะเพิ่งแต่งงานยังไม่ทันส่งตัวเข้าหอ)
เมื่อเจ้าชายอานันทะบวชแล้วได้ชื่อว่า พระนันทะ ซึ่งพระนันทะบวชด้วยความจำใจเพราะความเกรงใจพี่ ซึ่งคือ พระพุทธเจ้า
วันที่ ๗ พระนางพิมพาส่งราหุลราชโอรสอายุแค่ ๗ ขวบ ให้ไปทูลขอสมบัติขุมทรัพย์ทั้งสี่ของพระบิดา พระพุทธองค์จึงรับสั่งให้พระสารีบุตรรับพระราหุลไปบวชเณร
ทำให้พระเจ้าสุทโธทนะทรงเสียพระทัย เพราะเจ้าชายสิทธัตถะราชโอรสเคยไปบวชโดยไม่บอกลา เจ้าชายอานันทะพระราชโอรสอีกพระองค์ก็บวชโดยไม่ทันได้บอกลา ท้ายสุดยังมีเจ้าชายราหุลพระราชนัดดาก็มาบรรพชาโดยไม่บอกกล่าวอีก
ฝ่ายพระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดา เมื่อได้ทรงทราบดังนั้นก็ทรงมีความทุกข์เป็นอย่างยิ่ง จึงได้รีบเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วทูลถึงความทุกข์ในพระราชหฤทัยว่า เมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จออกทรงผนวชนั้น พระองค์ก็ทรงประสบความทุกข์อย่างใหญ่ เป็นครั้งแรก
ครั้นเมื่อพระนันทะออกทรงผนวชอีก ก็ทรงประสบความทุกข์เป็นอย่างยิ่งอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ยังหวังอยู่ว่ายังมีพระราหุลจะทรงเป็นผู้สืบพระราชวงศ์ต่อไป
แต่มาครั้งนี้พระราหุลมาทรงบรรพชาอีก ก็ยิ่งทรงประสบความทุกข์อย่างหนัก เป็นครั้งที่ ๓
เพราะฉะนั้นพระเจ้าสุทโธทนะจึงทรงขอประทานพรพระพุทธเจ้าข้อหนึ่ง
พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า ได้ทรงล่วงพรเสียแล้ว
พระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดาก็ทูลโดยความว่า ก็มิใช่จะเป็นการบังคับ เมื่อทรงเห็นสมควรก็ประทาน เมื่อไม่ทรงเห็นสมควร ก็อย่าประทาน
พระพุทธเจ้าก็ทรงให้พระเจ้าสุทโธทนะตรัสว่า จะทรงขออะไร
พระเจ้าสุทโธทนะก็ได้ทูลขอพรข้อหนึ่งว่า
“ต่อไปเมื่อพระสงฆ์จะบวชผู้ใดให้ผู้นั้นได้รับอนุญาตจากมารดาบิดาก่อน
เพราะได้ทรงปรารภถึงความทุกข์ที่เกิดแก่พระองค์ครั้งนี้ว่ามากมายนัก
ก็อย่าให้ความทุกข์เช่นนี้เกิดขึ้นแก่มารดาบิดาอื่นเลย"
พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาต และก็ได้ทรงสั่งพระสงฆ์ว่าจะบวชใครก็ต้องให้ผู้นั้นได้รับอนุญาตจากมารดาบิดาเสียก่อน ตลอดมาถึงบัดนี้
นี่จึงเป็นมูลเหตุเบื้องต้นนับแต่นั้นมา ที่มีข้อกำหนดว่าเมื่อผู้ประสงค์จะบรรพชาเป็นสามเณร หรือ อุปสมบทเป็นพระภิกษุจะต้องได้รับอนุญาตจากบิดา-มารดาเสียก่อนจึงจะดำเนินการได้ เว้นไว้แต่มารดา-บิดา ไม่มีชีวิตอยู่ดังนั้นเมื่อจะทำการบรรพชา หรืออุปสมบท
พระสงฆ์ผู้จะทำการให้ก็จะถามก่อนเป็นอันดับแรกว่า บิดา-มารดา ท่านได้อนุญาตหรือยัง หากว่ายังก็ให้ไปขออนุญาตก่อน
---------------------
เจ้าชายสิทธัตถะ เคยทูลขอบวชกับพระราชบิดาแล้ว
หลายคนอาจคิดว่า พระพุทธเจ้าของเรามาบวชโดยไม่ได้ทูลขอพระราชานุญาตจากพระราชบิดาก่อน
แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่
เจ้าชายสิทธัตถะทรงเคยทูลขอกับพระราชบิดาแล้วครับ ซึ่งพระองค์ทรงทูลขอแบบเหนือชั้นมาก
โดยผมขออ้างอิงจาก คัมภีร์คัมภีร์ลลิตวิสตระ ชื่อ อภิเนษกรมณปริวรรต
"อภิเนษกรมณ์" (อะพิเนดสะกฺรม) หมายถึง การออกบวชเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่.
ต้องนับว่าเป็นกุศโลบายที่ยอดเยี่ยมของพระพุทธองค์จริง ๆ เพราะในคืนนั้น
เจ้าชายสิทธัตถะได้ทูลขอพระราชบิดาว่า "ขอพระบิดาทรงช่วยอวยพรให้ลูกว่า หากลูกตายขออย่าให้ลูกได้เกิดอีกเลย"
พระเจ้าสุทโธทนะ จึงอวยพรให้เจ้าชายสิทธัตถะว่า "ถ้าลูกกระทำการปลดเปลื้องอิสระจากในโลกนี้ ความคิดซึ่งเป็นความปราถนาแก่ลูกจนเต็มเปี่ยมเถิด"
แปลความง่าย ๆ ว่า พระราชบิดาทรงอวยพรว่า ถ้าเจ้าชายสิทธัตถะจะกระทำอะไรที่จะช่วยให้ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก ก็ขอให้ได้สมตามที่ปรารถนา
ด้วยเหตุนี้ เจ้าชายสิทธัตถะจึงได้เสด็จออกไปแสวงหาหนทางหลุดพ้นจากการเกิด ตามคำอำนวยพรจากพระราชบิดา
เนื้อหาสำคัญเรื่องนี้อยู่ในกรอบสีแดงที่ผมทำไว้ครับ
ในความปรารถนา 4 ข้อแรกของเจ้าชายสิทธัตถะที่ทูลขอพรจากพระเจ้าสุทโธทนะ ก็คือ ขอให้ไม่แก่ ไม่มีโรค ไม่ชรา และไม่ตาย หากพระราชบิดาสามารถให้พรทั้ง 4 ข้อนั้นได้ เจ้าชายสิทธัตถะก็จะไม่ทรงออกบวช
แต่พระราชบิดาก็ไม่สามารถให้พรทั้ง 4 ข้อนั้นแก่พระองค์ได้ เจ้าชายสิทธัตถะจึงทรงต้องออกไปแสวงหาหนทางหลุดพ้นจากการเกิดเอง
ด้วยการขอพรพระราชบิดาว่า ถ้าลูกตายก็ขออย่าให้ลูกกลับมาเกิดอีกเลย
ซึ่งพระราชบิดาพระเจ้าสุทโธทนะก็อำนวยอวยพรนั้นแก่พระราชโอรสสิทธัตถะ
------------
ความกลัวในอดีตของพระเจ้าสุทโธทนะ
ย้อนความเมื่อครั้งที่เมื่อตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติใหม่ ๆ
ท่านอัญญาโกณฑัญญะ เคยได้ทำนายพระชะตาของเจ้าชายสิทธัตถะ และกล้าฟันธงไว้ว่า “พระราชกุมาร ผู้บริบูรณ์ด้วยมหาบุรุษลักษณะอย่างนี้ จะไม่อยู่ครองเพศฆราวาสอย่างแน่นอน จักต้องเสด็จออกบรรพชา และได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างมิต้องสงสัย”
ทำให้ต่อมาพระเจ้าสุทโธทนะ ได้รับสั่งให้มีเวรยามมากมายเพื่อสกัดกั้นไม่ให้เจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกจากพระราชวังไปบวช
แต่ถึงกระนั้นเจ้าชายสิทธัตถะก็สามารถเสด็จออกจากพระราชวังไปจนได้
จะเรียกว่า หนีไปบวชโดยไม่มาพูดร่ำลาก็ได้ แต่เคยทูลขอพรจากพระราชบิดาในเรื่องการไม่ต้องกลับมาเกิดอีก
จะเรียกว่า เคยทำบาปนิดนึงที่ทำให้พ่อแม่เสียใจที่ตนเองไปบวชก็ได้
แต่การบวชของเจ้าชายสิทธัตถะนั้น ต่อมากลับเป็นมหากุศลที่ยิ่งใหญ่ คือ การที่พระพุทธเจ้าทรงกลับนำหนทางพ้นทุกข์นั้นมาสอนให้พ่อแม่ได้พ้นทุกข์ตาม ครับ
การช่วยให้พ่อแม่หลุดพ้นจากวัฏสงสาร คือ การตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ที่ดีที่สุด
เจ้าชายสิทธัตถะ จึงเป็นผู้มีความกตัญญูต่อพระราชบิดา และพระราชมารดาเลี้ยง พระนางมหาปชาบดีโคตมี อย่างที่สุดครับ
เช่น พระพุทธเจ้ายังทรงเสด็จไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดพุทธมารดาด้วยเช่นกัน
รูปวาด สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จแสดงธรรมเทศนาโปรดพุทธบิดา พระเจ้าสุทโธทนะ ซึ่งทรงพระประชวรอย่างหนัก โดยแต่เดิมพระองค์ทรงเป็นพระอนาคามีอยู่แล้ว ก็ได้สำเร็จอรหันต์ก่อนจะสวรรคต
คลิกอ่าน เจ้าชายสิทธัตถะทรงทิ้งเมียทิ้งลูกผิดหรือไม่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น