เพราะบล็อคมุมมองใหม่เมืองเอก ลิงค์มักมีปัญหาไลค์ไม่ได้ เลยมาเปิดบล็อคใหม่อันนี้แทนครับ
วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2559
วิกฤติป่า วิกฤติแล้ง ฟื้นฟูป่าต้นน้ำด้วยมหัศจรรย์หญ้าแฝก
เมื่อคืนนี้ผมได้มีโอกาชมคลิปรายการ 1 ในพระราชดำริ ตอน วิกฤติป่า วิกฤติภัยแล้ง ซึ่งเป็นตอนที่ดีมาก
เพราะได้อธิบายถึงปัญหาความแห้งแล้งอย่างสาหัสของประเทศไทย และแนวทางแก้ไขปัญหาป่าต้นน้ำ โดย ศ.ดร.อภิชาติ ภัทรธรรม อาจารย์พิเศษภาควิชาจัดการป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลับเกษตรศาสตร์ อดีตนักเรียนทุนอานันทมหิดล
ก่อนที่จะไปปลูกป่า ก็ควรเรียนรู้ถึงปัญหาของป่าและวิกฤติแล้งให้ถ่องแท้ก่อนครับ
คลิปรายการ หนึ่งในพระราชดำริ ตอน วิกฤติป่า วิกฤติแล้ง
ถ้าคุณได้ดูคลิปแรกจนจบ คุณจะเข้าใจปัญหาความซับซ้อนของป่าไม้ไทย ว่ามีผลอย่างไรต่อสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน และอิทธิพลของเอลนีโญในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และกำลังจะพบอิทธิพลของลานีญาในปี 2560 ต่อไป
ส่วนหลักการปล่อยให้ป่าฟื้นตัวด้วยตัวเอง ผมจะสรุปที่ท้ายบทความอีกทีครับ
--------------------
หลังจากเกิดกรณี ดารานักร้องมีเจตนาจะไปปลูกป่าบนพื้นที่ป่าต้นน้ำเดิมในจังหวัดน่านที่กลายเป็นไร่ข้าวโพด ไปแล้วนั้น
ก็มีกระแสดราม่าออกมาทั้งสนับสนุนและคัดค้าน ทั้งมีบางคนบอกว่า จะไปปลูกแต่ถ้าไม่มีคนดูแล สุดท้ายต้นกล้าก็ตายอยู่ดี
แถมชาวไร่ข้าวโพดเดิม ๆ ถ้าเขาไม่ยอมรับ เขาก็บุกทำลายต้นกล้าเพื่อกลับไปปลูกข้าวโพดได้เช่นเดิม
ดังนั้นปัญหาสำคัญของการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ก็คือ ปัญหาของคนในพื้นที่จะยอมรับหรือไม่ และมีมาตรการใดในการไม่ให้คนในพื้นที่กลับมาทำลายต้นกล้าที่นำไปปลูกป่าอีก
โอเค ปัญหานั้นพักไว้ก่อน
แต่ก่อนที่เราจะปลูกป่า เราควรเรียนรู้ก่อนว่า ก่อนที่ต้นกล้าจะอยู่รอดได้นั้น มันควรมีพืชพี่เลี้ยงที่ดีเพื่อช่วยดูดซับน้ำ และช่วยป้องกันการพังพลายของหน้าดินเสียก่อน
เพราะเมื่อป่าหัวโล้นไม่มีต้นไม้ใหญ่ที่มีรากค้ำจุนดินเอาไว้ ต่อให้ปลูกป่าไป ก็ยากที่จะไปรอด
และพืชที่เป็นพี่เลี้ยงที่ดีที่สุดของต้นกล้า เป็นพืชที่ช่วยฟื้นฟูผืนดินที่เสื่อมโทรมให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ได้ดีที่สุด เป็นพืชที่รักษาหน้าดินและการพังทลายของหน้าดินที่ดีที่สุด นั่นก็คือ การปลูกหญ้าแฝก นั่นเอง
ซึ่งหญ้าแฝกมีหลายพันธุ์ แต่ละพันธุ์ก็จะมีคุณสมบัติแตกต่างกันเพื่อใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ต่าง ๆ
หญ้าแฝก ที่เดิมชาวบ้านคิดว่า มันคือ วัชพืช
แต่ความจริงแล้ว ในหลวงทรงค้นพบว่า หญ้าแฝกไม่ใช่วัชพืช แถมเป็น พืชมหัศจรรย์ที่เคยฟื้นฟูป่าบนดอยตุงที่เคยเป็นป่าเสื่อมโทรมจนกลับมาเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์อีกครั้ง
รายการ หนึ่งในพระราชดำริ ตอน หญ้าแฝก
จริง ๆ แล้ว การปลูกป่า ควรเริ่มด้วยการเตรียมผืนดินของภูเขาหัวโล้น ให้เหมาะให้พร้อมจะให้ต้นไม้ขึ้นได้อย่างยั่งยืนก่อนครับ
ซึ่งนั้นก็คือ ต้องปลูกหญ้าแฝก เป็นพืชพี่เลี้ยงเพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ดินก่อน
-----------------
สรุป
หลักการที่ในคลิปแรกนำเสนอ ก็คือ การปล่อยป่า อย่าไปรบกวนป่า แล้วป่าจะฟื้นตัวของเขาเองได้นั้น
ผมอยากจะบอกว่า ในกรณีปล่อยป่าฟื้นสภาพด้วยป่าเองนั้น ก็ต้องเป็นสภาพพื้นที่ที่ยังพอมีป่าโดยรอบหลงเหลืออยู่พอเป็นพี่เลี้ยงป่าต่อไปบ้าง เช่น ป่าที่แหว่งไปจากการบุกทำลาย แต่ถ้าสภาพแวดล้อมโดยรอบยังพอมีป่าหลงเหลืออยู่ ป่าที่หลงเหลืออยู่ก็จะเป็นป่าพี่เลี้ยงที่จะฟื้นฟูบริเวณที่เป็นป่าเสื่อมโทรมได้ด้วยตัวเอง
ส่วนกรณีภูเขาหัวโล้นนับล้านไร่ ถ้าแค่ปล่อยให้ป่าฟื้นฟูเขาตัวเอง ก็คงไม่ทันการ เพราะไม่เหลือป่าเดิมที่จะเป็นพี่เลี้ยงเพื่อการฟื้นฟูตัวเอง
แถมปัญหาการพังทลายของหน้าดินก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะไม่มีรากต้นไม้ใหญ่ค้ำจุนดินไว้ แถมความแห้งแล้งที่ทวีความรุนแรงก็จะยิ่งทำลายหน้าดินให้เสื่อมสภาพในที่สุด สุดท้ายผืนดินบนภูเขาหัวโล้นก็อาจจะเสื่อมสภาพไปตลอดกาล
ผมจึงอยากแนะนำให้คนที่คิดจะไปปลูกป่า ได้ศึกษาคุณสมบัติของหญ้าแฝกในหลาย ๆ พันธุ์ เพื่อนำมาปลูกให้เหมาะสมกับพื้นที่ต่าง ๆ ในการฟื้นฟูผืนดินเสียก่อน ก่อนคิดจะปลูกป่าต้นน้ำต่อไปครับ
ตัวอย่างเช่น หญ้าแฝก พันธุ์ห้วยขาแข้ง เป็นต้น ที่เหมาะกับการปลูกในสภาพที่ดินหลากหลาย แถมสามารถปลูกในที่แสงแดดน้อยก็ยังขึ้นได้ดี และยังเป็นอาหารของสัตว์กินหญ้าอีกด้วย เป็นต้น
คลิกอ่าน ต้นเหตุเขาหัวโล้น และลุงแก้วผู้พิชิตป่าหัวโล้นด้วยเกษตรทฤษฎีใหม่
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น