ขณะนี้มีปัญหาว่า คนไทยจำนวนมากที่เป็นเจ้าของรถกระบะ หรือมีรถกระบะในครอบครัว เพิ่งจะรู้กันว่า ที่นั่งตรงแคปไม่สามารถนั่งได้เพราะผิดกฎหมาย
ก่อนอื่นขอเล่าเท้าความคร่าว ๆ ว่า แต่เดิมรถกระบะมีเพียงรถกระบะตอนเดียว ไม่มีพื้นที่แคปด้านหลังคนขับ และรถกระบะประเภทนี้ต้องจดทะเบียนเป็นรถบรรทุกและสามารถนั่งในรถได้เพียง 2 คนเท่านั้น คือคนขับ กับคนนั่งข้างคนขับ
ต่อมาทางผู้ผลิตรถกระบะ ก็เลยเกิดไอเดียเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับคนขับรถกระบะและผู้โดยสารด้านข้างให้สามารถปรับเบาะเอนได้สบายขึ้น จึงเพิ่มพื้นที่ด้านหลังเบาะที่นั่งเพื่อจะได้บรรทุกข้าวของสัมภาระในตัวรถได้มากขึ้น และช่วยให้สามารถปรับเบาะนั่งเอนได้มากขึ้นเพื่อความสะดวกสบาย
ซึ่งในทางกฎหมาย รถกระบะตอนเดียว กับ รถกระบะมีแคป ก็คือ รถชนิดเดียวกัน ต้องจดทะเบียนประเภทเดียวกัน
ส่วนตัวแทนจำหน่ายรถกระบะมองเห็นโอกาสและลู่ทางในการขาย จึงไปทำเบาะในพื้นที่แคปขึ้นมา เพื่อจะทำให้ผู้โดยสารนั่งในบริเวณแคปได้
ส่วนทางบริษัทผู้ผลิตรถกระบะเขาหัวหมอ เขารู้ในเรื่องข้อกฎหมายอย่างดี เขาจึงไม่ยอมโฆษณาว่า พื้นที่แคปสามารถให้คนนั่งโดยสารได้ เพราะมันผิดกฎหมาย
บริษัทรถยนต์เขาจะโฆษณาแค่ว่า เพิ่มพื้นที่ห้องโดยสาร เพื่อความสะดวกสบายและเพิ่มพื้นที่ในการวางสัมภาระในตัวรถได้มากขึ้น
บริษัทผู้ผลิตรถยนต์เลยแข่งขันการพัฒนาให้พื้นที่แคปของรถกระบะกว้างมากขึ้น ซึ่งทำให้ผู้บริโภคที่มาซื้อรถกระบะ ก็เหมือนถูกหลอกทางอ้อมว่า บริเวณแคปสามารถนั่งได้ เพราะเวลาไปซื้อรถกระบะมีแคปมักมีเบาะที่นั่งเสริมแถมมาด้วย
ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริง เขาว่ากันว่า เบาะที่นั่งเสริมพวกนี้พวกตัวแทนจำหน่ายสั่งทำเพิ่มเอง (อุปกรณ์เสริม) เป็นของแถม เพราะที่นั่งแคปไม่ได้ผลิตมาจากบริษัทผู้ผลิตรถกระบะโดยตรง เหตุเพราะบริษัทรถยนต์เขาแม่นกฎหมาย เขาไม่พลาดให้โดนเล่นงานในข้อกฎหมาย
หากบริษัทผู้ผลิตรถกระบะบอกตรง ๆ ว่า บริเวณแคปนั่งไม่ได้เพราะผิดกฎหมาย ย่อมจะกระทบยอดขายรถแน่นอน
แต่ทั้งหมดในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา มันได้ทำให้คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจผิดคิดไปเองว่า บริเวณแคปของรถกระบะสามารถนั่งโดยสารได้
--------------------
เหตุผลที่ควรอนุญาตให้ผู้โดยสารนั่งแคปได้
ผมคงไม่ลงรายละเอียดในข้อกฎหมายนะครับ เพราะถ้าตามกฎหมายจริง ๆ คือนั่งบริเวณแคปไม่ได้ เพราะรถกระบะมีแคปก็เหมือนรถกระบะตอนเดียว คือมีผู้โดยสารได้แค่ 2 คนเท่านั้น และต้องจดทะเบียนเป็นรถบรรทุกป้ายทะเบียนขาวตัวหนังสือสีเขียวเท่านั้น
หากอนุญาตให้คนนั่งที่แคปได้ ก็อาจต้องไปจดทะเบียนใหม่เป็นป้ายดำหรือไม่ ?
แต่มันก็ติดปัญหาข้อกฎหมายไปถึงผู้ผลิตรถกระบะอีก เพราะผู้ผลิตรถกระบะเขาผลิตรถออกมาในนามรถกระบะบรรทุก เพราะมันมีผลต่อการคิดฐานภาษีรถด้วย
ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาของรัฐบาลว่า ถ้าจะอนุญาตแล้วจะต้องไปหาทางแก้ไขกฎหมายแค่ไหน
ส่วนเหตุผลที่ควรจะอนุญาตให้ผู้โดยสารนั่งโดยสารที่แคปได้ก็คือ
1. หากเกิดการชนด้านหน้า บริเวณแคปก็จะปลอดภัยกว่าบริเวณที่นั่งด้านหน้า เพราะด้านหน้ามีเครื่องยนต์และที่นั่งคนขับและที่นั่งข้างคนขับซับแแรงกระแทกได้ก่อนถึงบริเวณแคป
2. หากเกิดการชนด้านหลัง บริเวณแคปก็จะมีท้ายกระบะซึ่งมีความยาวซับแรงกระแทกไว้ก่อนถึงบริเวณแคป
จาก 2 ข้อแรก ถ้าคุณผู้อ่านไปหาดูคลิปการทดสอบการชนของรถกระบะมีแคปด้วยความเร็ว 50-60 กม./ชม. ทั้งการชนทางด้านหน้าและการชนทางด้านหลังดูในยูทูปได้ครับ
ซึ่งผลการทดสอบปรากฎว่า บริเวณที่นั่งแคปได้รับผลกระทบน้อยกว่าที่นั่งคนขับและที่นั่งข้างคนขับเสียอีกครับ
3. หากรัฐจะอนุญาตให้มีผู้โดยสารที่บริเวณแคปได้จริง ๆ ก็ควรให้มีการปรับปรุงที่นั่งบริเวณแคปให้มั่นคงแข็งแรง และติดเข็มขัดนิรภัยให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีแบบคุณกฤษณะ ละไลที่ต้องพิการเพราะคนนั่งบริเวณแคปลอยมากระแทกด้านหลังของเขา เพราะที่นั่งแคปไม่มีเข็มชัดนิรภัยในช่วงเกิดอุบัติเหตุ
ส่วนปัญหาเรื่องต่อไปรถกระบะมีแคปมีที่นั่งได้เป็น 4 ที่นั่งแล้ว รถพวกนี้จะต้องไปจดทะเบียนอย่างไร เพราะคงจดทะเบียนเป็นรถบรรทุกแบบเดิมก็คงไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของรัฐบาลต้องนำไปพิจารณาต่อไป
ส่วนบทความนี้เขียนเพื่อจะสนับสนุนการอนุญาตให้นั่งบริเวณแคปได้เท่านั้น เพราะบริเวณแคปมันไม่ได้อันตรายกว่าที่คิดกันไป
เพราะในต่างประเทศเขาอนุญาตให้นั่งบริเวณแคปได้ และมีการติดตั้งเข็มขัดนิรภัยอย่างครบครัน
ปัญหาของบ้านเราตอนนี้คือ ปัญหาในข้อกฎหมาย คือ ถ้าอนุญาตให้นั่งบริเวณแคปได้ ต่อไปรถกระบะมีแคปพร้อมที่นั่งอาจต้องไปจดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลป้ายทะเบียนสีขาวตัวหนังสือสีดำหรือไม่ ซึ่งจะมีภาษีประจำปีแพงกว่าป้ายทะเบียนรถบรรทุกที่เคยจดเดิม ๆ กันมาครับ
คนไทยมักเป็นประเภทไม่อยากจ่ายภาษีแพง แต่อยากได้ความสะดวกครบครัน ทำนองนี้แหละ เลยยอมละเมิดกฎหมายกันจนเป็นปกติ
คลิกอ่าน จากสี่แยกวังหินถึงนั่งท้ายรถกระบะ ดัชนีชี้วัดวินัยคนไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น