วันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เศรษฐศาสตร์นายทุน ชอบหลอกคนจน







ข่าวธุรกิจมักชอบเสนอข่าวการจับจ่ายเงินของผู้คน เสนอข่าวกระตุ้นให้ผู้คนยิ่งใช้จ่ายมาก แสดงว่า เศรษฐกิจดี

แต่นั่นมันดีสำหรับนายทุนมากกว่าประชาชน ต่างหาก

สำหรับผม ผมกลับไม่เคยหลงใหลได้ปลื้มกับตัวเลขคนใช้จ่ายมากมายอะไรเลย เหมือนดั่งที่นักเศรษฐศาสตร์ขี้ข้านายทุนชอบใช้อวดอ้าง

เพราะการที่ประชาชนใช้จ่ายเยอะ ในแง่นักธุรกิจและพ่อค้าเขาย่อมชอบใจ เพราะมันคือหนทางร่ำรวยและสร้างกำไรของพ่อค้า แต่นั่นคือการมองแบบที่นายทุนชอบด้านเดียว

ที่จริงแล้ว การที่เศรษฐกิจดีในแบบเศรษฐศาสตร์ตะวันตกมอง มันมักจะสร้างหายนะ ทำลายโลก สอนคนฟุ้งเฟ้อ สุขนิยม เพราะมองแต่ตัวเลขที่ประชาชนใช้จ่ายเท่านั้น

การที่มองว่า ช่วงเทศกาลต่าง ๆ มีเงินสะพัดเพิ่มขึ้น เราต้องมองด้วยว่า เงินทีสะพัดนั้น มันมาจากเงินเฟ้อเท่าไหร่ ? มาจากของราคาแพงขึ้นเท่าไหร่ มาจากเงินที่ประชาชนมีอยู่ในกระเป๋าจริงๆ เท่าไหร่ หรือมาจากเงินที่ประชาชนไปสร้างหนี้เพื่อใช้จ่ายกันแน่ ?

รัฐบาลไทยทุกยุคทุกสมัย สนใจที่ตัวเลข GDP สนใจแต่ว่า ประชาชนใช้เงินยิ่งมากยิ่งดี แต่กลับไม่ค่อยจะรายงานตัวเลขเรื่องประชาชนมีเงินออมเพิ่มขึ้นหรือลดลงแค่ไหน?

ถามว่า แต่ละปี คนไทยมีเงินออมมากขึ้น หรือน้อยลง ? คำตอบคือ ไม่รู้ครับ เพราะไม่ค่อยมีใครมาบอก ?

รัฐบาลไทยชอบที่จะกระตุ้นให้คนไทยใช้จ่ายมากกว่าจะสอนให้คนไทยรู้จักอดออม ทำให้คนไทยเลยเป็นพวกชอบใช้เงิน ชอบเป็นหนี้เพื่อสนองกิเลสความอยาก มากกว่าจะออมเงินไว้ใช้จ่ายในคราวจำเป็น

เราจึงสังเกตได้เลยว่า คนไทยจึงเป็นหนี้นอกระบบสูงมากติดอันดับโลก คนไทยส่วนใหญ่เกิน 80 % หรือร่วมๆ 90% มีเงินออมไม่ถึงคนละ 1 ล้านบาท

ผมถึงอยากให้ทุกท่านจำไว้เลยว่า ตัวเลขการใช้จ่ายนั้น ประโยชน์ที่เกิดขึ้นเกินร้อยละ 80 จะไปตกแก่นายทุนและเศรษฐีทั้งนั้น ส่วนประชาชนส่วนใหญ่น่ะเหรอ ก็จนต่อไปครับ

นั่นจึงทำให้ พวกบรรดานายทุน และนักเศรษฐศาสตร์รับใช้นายทุน ชอบที่จะอวดตัวเลขในการใช้จ่ายของประชาชนว่า ยิ่งจ่ายมากแสดงว่า เศรษฐกิจดี แต่ไอ้ที่ว่าเศรษฐกิจดีนั้นคือ นายทุนรวยขึ้น ประชาชนจนลง ครับ

และถ้านำตัวเลขของหนี้ประชาชนมาเปิดเผย เราจะรู้ได้ทันทีว่า คนไทยเป็นหนี้เพิ่มขึ้น ทั้งในระบบ และนอกระบบ

ให้สังเกตได้ว่า กิจการ ธุรกิจ ประเภทคาร์ฟอร์แคช หรือ รถแลกเงินสด หรือกิจการเงินด่วนทั้งในระบบและนอกระบบ มันเติบโตขึ้นมากมายเพียงไร

ตอนนี้หนี้ภาคครัวเรือนกำลังเพิ่มขึ้น หนี้เสียหรือเอ็นพีแอล ก็มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างน่ากลัว หนี้สาธารณะของคนไทยก็เพิ่มสูงขึ้น จากประชานิยมมือเติบของรัฐบาล

ประเทศไทยในวันนี้ยังไม่เจ๊งง่ายๆ หรอกครับ แต่ถ้ารัฐบาลยังแจกไม่อั้น ใช้เงินมือเติบ สอนประชาชนให้ใช้จ่ายมากเกินไป หรือที่เรียกว่า กระตุ้นเศรษฐกิจทั้งปีทั้งชาติ

แถมรัฐบาลคิดจะลดดอกเบี้ยเงินฝากลง เพื่อลดการไหลเข้าของเงินต่างชาติ แต่จะกลายเป็นส่งเสริมให้คนไทยยิ่งออมเงินน้อยลง

ซึ่งการที่คนไทยออมเงินน้อยลงเท่าไหร่ นักธุรกิจและนายทุนก็ยิ่งรวยมากขึ้นเท่านั้น

ถ้ายังคงสภาพแบบนี้ต่อไป อีกไม่นาน คนไทยที่ไม่รู้จักอดออม จะเจ๊งในจำนวนมหาศาลแน่นอนครับ


(ปล. ผมไม่ได้ห้ามการใช้จ่าย เพราะเมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องใช้จ่ายอยู่แล้ว แต่ประเด็นคือ ภาพมายาที่รัฐบาลและนายทุนชอบสร้างให้ประชาชนหลงเชื่อว่า ใช้จ่ายยิ่งมากยิ่งดี นั่นก็เพื่อหลอกเงินจากประชาชนเข้ากระเป๋านายทุนต่างหากครับ และคนในรัฐบาลก็พวกนายทุนทั้งนั้น) 


-------------------------

เก็บข่าวมาให้คิด

นักวิชาการเตือนปัญหาหนี้สาธารณะ ระเบิดเวลาโครงการประชานิยม เศรษฐกิจไทยไม่โตตามเป้ายุ่งแน่ เทียบสเปน ปี 51 หนี้แค่ 40% ฟองสบู่แตกพุ่งกระฉูด

นายวิมุต วานิชเจริญธรรม อาจารย์ประจำภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานเสวนาเรื่อง "หนี้สาธารณะ : ระเบิดเวลา หรือ ยากระตุ้นเศรษฐกิจ?" ที่จัดโดยภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าหนี้สาธรณะสุดท้ายคนที่รับภาระก็คือประชาชน ปัจจุบันคาดว่าคนไทยมีหนี้โดยเฉลี่ยประมาณ 72,000 บาทต่อคน แต่ต้องไม่ลืมว่าตัวเลขจะมากกว่านี้มาก เพราะคนไทยที่เสียภาษีจริงๆ มีไม่กี่คนเท่านั้นไม่ใช่คนไทยทั้งประเทศ

ประเด็น คือ รัฐใช้จ่ายเงินได้มีประสิทธิภาพเพียงไหนด้วย แล้วอยากให้รัฐมองไปข้างหน้าถึงอนาคตด้วย เพราะความเสี่ยงในโลกยังมีอยู่และไม่มีใครู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต

ตัวอย่างกรณีของสเปนเองในช่วงปีค.ศ.2008 หนี้สาธารณะต่อ GDP ประมาณ 40% เท่านั้น เพราะรัฐมีรายได้ภาษีที่เก็บได้มากจากภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งกำลังเป็นฟองสบู่ในขณะนั้น จึงนำมาสนับสนุนรายจ่ายของภาครัฐในช่วงนั้นได้ จนเกิดวิกฤติฟองสบู่แตกรายรับภาษีของรัฐก็ลดลง แต่รายจ่ายยังคงอยู่เพื่อช่วยเหลือคนที่ตกงาน สุดท้ายหนี้ก็ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนกลายมาเป็นปัญหาในที่สุด

"ดังนั้นจึงอยากให้รัฐมองไปถึงอนาคตไกลๆ ด้วย ว่าจะประชานิยมหรืออะไรในปัจจุบัน ต้องนึกถึงตอนจะเลิกทำด้วยว่าจะมีปัญหาตามมาหรือเปล่า เพราะไม่มีใครรู้อนาคตถ้าเกิดวิกฤติขึ้นเศรษฐกิจไทยไม่โตตามเป้าจะเกิดอะไรขึ้นตามมา ไม่อยากให้ไปมองแค่เรื่องของตัวเลขว่ามากหรือน้อยเพียงอย่างเดียว หนี้เยอะ รายได้เยอะก็สามารถดูแลหนี้ได้ แต่ถ้าหนี้เยอะแล้วรายได้น้อยจะเป็นปัญหาตามมาได้เป็นต้น"


กรุงเทพธุรกิจ 19 ธ.ค. 55


akecity





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น