วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ปฏิรูปหลักประกันสุขภาพ คือต้องสอนคนไทยรู้ทันประชานิยมชั่ว ๆ






ตอนนี้กระแสที่กำลังเป็นปัญหาเกี่ยวกับระบบประกันสุขภาพของคนไทยก็คือ มีคนเสนอแนวทางว่า คนไทยน่าจะร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลบ้าง

ซึ่งพอผมได้ยินข่าวนี้ ผมรู้สึกจี๊ดเลยครับ เพราะไอ้คนที่เสนอนี่มันน่าเอาบาทาลูบหน้ามันนัก

ผมอยากจะถามว่า แล้วไอ้คนที่เสนอน่ะ คุณใช้สิทธิรักษาพยาบาลอะไร ? แล้วคุณต้องเสียค่ารักษาพยาบาลสมทบด้วยหรือไม่ ?

ถ้าคุณยังไม่ต้องร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลสมทบ แล้วคุณเสนอมาทำไม แบบนี้เขาเรียกว่า การเสนอแนวคิดเลว ๆ บนความทุกข์ของคนส่วนใหญ่ แต่ตัวมันเองกลับรอด !!

ผมพอจะทราบมาภายหลังว่า ไอ้คนเสนอแนวคิดนี้ไม่ใช่ ปลัด สธ.

แต่เป็น นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก คือผู้เสนอเรื่องนี้ ซึ่งเขาเป็นข้าราชการ ที่ได้รับสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ ซึ่งเป็นสิทธิที่ดีกว่าและได้มากกว่าสิทธิของ สปสช. ของคนไทยส่วนใหญ่ใช้อีกด้วย

ถามว่า ข้าราชการกลายเป็นชนชั้นที่ไม่เท่าเทียมคนไทยใช่หรือไม่ ?

ค่ารักษาพยาบาลข้าราชการต่อหัว เฉลี่ยหัวละ 12,000 บาทต่อปี (ปี2557)

ค่ารักษาพยาบาลคนไทยในระบบ สปสช. เฉลี่ยหัวละ 2,895 บาทต่อปี (ปี 2557)

คนไทยในระบบ สปชป. ได้แค่หัวละ 2,895 บาทต่อปี น้อยกว่าค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการตั้ง 4 เท่า แล้วก็ยังจะถูกเรียกให้ร่วมจ่ายอีกเหรอ ?

แล้วความยุติธรรมในความเท่าเทียมกันอยู่ที่ไหน ?

อยากจะบอกไอ้คนเสนอว่า ผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพของ สปสช. คือ คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้นะโว้ย !!

สิทธิของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศกลับได้รับการรักษาพยาบาลจากภาครัฐด้อยกว่าสิทธิของข้าราชการที่มีหน้าที่ต้องรับใช้ประชาชน 


แต่ในอีกแง่หนึ่ง แม้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเหมาจ่ายหัวละประมาณ 2,900 บาท ซึ่งทำให้โรงพยาบาลรัฐทุกโรงพยาบาลขาดทุน

แต่สิ่งที่มาจุนเจือให้โรงพยาบาลรัฐยังพอดำเนินกิจการต่อไปได้ก็คือ สิทธิรักษาพยาบาลของข้าราชการ ที่โรงพยาบาลรัฐส่วนใหญ่ยังพอจะมีกำไรบ้างจากค่ารักษาพยาบาลส่วนนี้มาจุนเจือกิจการครับ

และอีกส่วนที่ทำให้โรงพยาบาลยังพออยู่ได้แบบกระเบียดกระเสียนก็คือ มูลนิธิของแต่ละโรงพยาบาลที่พยายามหาเงินบริจาคมาจุนเจือ ถ้าคุณผู้อ่านเจอกล่องรับบริจาคของมูลนิธิโรงพยาบาลก็อย่าลืมหยอดทำบุญกันนะครับ

ตัวอย่างโฆษณามูลนิธิโรงพยาบาลภูมิพลฯ เงินบริจาค 100 บาทของคุณ ช่วยอะไรผู้ป่วยได้บ้าง


-----------------

ปฎิรูปหลักประกันสุขภาพคนไทยอย่างเท่าเทียมกัน ในมุมมอง ดร.อัมมาร 

ผมอยากจะเขียนเรื่องนี้ในหลายประเด็น แต่นับว่าเป็นโชคดีของผม ที่ผมได้มีโอกาสได้ดูข่าวโมเดิร์นไนน์ ที่ได้สัมภาษณ์ ดร.อัมมาร สยามวาลา เกี่ยวกับแนวคิดให้คนไทยร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล

ซึ่ง ดร.อัมมาร ได้พูดไว้ดีมาก และครอบคลุมเนื้อหาได้อย่างใจที่ผมอยากจะเขียนเลยครับ

ขอให้คุณผู้อ่านลองตั้งใจฟัง ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ จาก ทีดีอาร์ไอ พูดนะครับ ท่านพูดได้ชัดเจนแจ่มแจ้งจริง ๆ

จากข่าวโมเดิร์นไนน์

17 ก.ค. 2557 ปัญหาร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลในโครงการหลักประกันสุขภาพ ผลักภาระไปให้ประชาชนส่วนหนึ่ง แม้ได้รับคำยืนยันจากปลัดกระทรวงสาธารณสุขว่าไม่มีแนวคิดในขณะนี้

แต่ในอนาคต ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เรียกร้องให้เพิ่มงบประมาณในส่วนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมกัน เพราะถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์




เรามาอ่านคำสัมภาษณ์ของ ดร.อัมมาร ชัด ๆ ในประเด็นสำคัญจะจะเลย

ดร.อัมมาร กล่าวว่า

"การร่วมจ่ายไม่ควรจะมี เงินไม่เพียงพอมันมาจากงบประมาณให้ไม่เพียงพอ คำถามที่ถามก็คือว่า รัฐบาลให้ได้เพียงพอไหม

ผมดูพฤติกรรมของรัฐบาล ในระยะ10ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยเนี่ย เสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย ปีนึงๆ งบประมาณสำหรับ สปสช. จะเพิ่มขึ้นประมาณต่ำกว่าหมื่นล้านบาท... 3พันล้านบาท 6 พันล้านบาท

แต่ถ้าถามว่า รัฐบาลสามารถจ่ายเงินควักกระเป๋า ทำโครงการใหม่ ๆ หรือทำประชานิยมได้ไหม ?

โครงการรถคันแรก 8 หมื่นล้านบาท นี่ตามตัวเลขของเขาเอง รายรับของรัฐบาลหายไป 8 หมื่นล้านบาท ทำไมทำได้ ?? ไปถามทีนะ

แล้วปีนั้นเขาไม่ขึ้นงบประมาณของ สปสช. เพราะฉะนั้นเนี่ย พวกเรา รวมทั้งบรรดาหมอทั้งหลาย บรรดาผู้ให้บริการทั้งหลาย ต้องตรวจสอบรัฐบาล!!

บอกว่า ทีอย่างนี้ขี้เหนียว แต่ที 8 หมื่นล้านบาทเนี่ย จ่ายไปหน้าตาเฉยเลย ก็เพราะไอ้ 8 หมื่นล้านบาท เนี่ย มันเป็นประโยชน์กับลูกของหมอบางคนด้วย อะไรด้วย แล้วแต่ผมไม่รู้ ...

เรามัวแต่ถูกมอมเมาด้วยประชานิยม โดยไม่มองว่า วิธีการเลือกใช้เงินของส่วนรวม เงินของรัฐบาล เงินหลวง มันใช้เหมาะหรือเปล่า การตรวจสอบมันเป็นเรื่องสำคัญ

อันนี้ผมพูดโดยยังไม่ได้พูดถึงจำนำข้าวนะ จำนำข้าวตกปีละ 2-3 แสนล้านนะ จ่ายไปได้ !!

แต่ไอ้ 8 พันล้านบาทสำหรับผู้ป่วยนี่สิ รู้สึกควักกระเป๋ายากจังเลย !

แล้ว สปสป. เขาพิถีพิถันมากเรื่องการขอเงินเพิ่มขึ้น เขาไม่ได้ขอพร่ำเพรื่อ เพราะฉะนั้น ค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลของรัฐบาลจึงต่ำที่สุดประเทศนึงในโลก"

--------------

สิ่งที่ ดร.อัมมาร พูด ประเด็นสำคัญก็คือ ประเทศไทยเราสูญเสียงบประมาณไปกับประชานิยมเลว ๆ มากมาย กลับยอมเสียไปโดยง่าย ทั้งรถคันแรก ที่ลูกของหมอบางคนก็ได้ประโยชน์ด้วย

รวมทั้งโครงการรับจำนำข้าว ที่เสียหายไปหลายแสนล้าน  แต่กลับเงียบกันไปหมด

แต่พอเรื่องความเจ็บป่วยซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานของชีวิตคนไทยทุกคน กลับมา งก !!

--------------

สำหรับผม ผมอยากจะบอกท่านผู้มีอำนาจทั้งหลายว่า ถ้าท่านไม่เคยจน ไม่เคยไปโรงพยาบาลแล้วต้องจ่ายเงินค่ารักษาเองทั้งหมด ท่านคงไม่รู้ว่า มันแสนทุกข์ยากแค่ไหนสำหรับคนจน พวกข้าราชการอย่างพวกท่านไม่มีทางได้รู้หรอก

เมื่อหลายปีก่อน ก่อนจะมี สปชป. ผมเคยเห็นชาวนามาโรงพยาบาล หมอสั่งให้ไปเอ๊กซ์เลย์ ต้องเสียเงินขั้นต่ำ 50 บาทต่อใบ ถ้าต้องเอ็กซ์เลย์หลายใบก็หลายร้อยบาท หรือถ้ามีค่าตรวจเลือดด้วย ก็หมดอีกหลายร้อย

ผมเคยเห็นชาวนาเครียดมานั่งนับเงินที่ตัวเองติดตัวมา เห็นแล้วน่าสงสารมาก ๆ แล้วไหนจะมีค่ายา ค่าเจาะเลือด ค่าเดินทางอีก

ส่วนพวกหมอดี ๆ หลายท่านก็สงสารคนป่วยนะ แต่หมอก็ต้องทำใจว่า คงช่วยเขาไม่ได้ เพราะคนจนในประเทศนี้มีมากมายเหลือเกินที่มารักษาในแต่ละวัน

แม้ตอนนี้จะมี สปสช. แล้ว แต่คนที่เขาจนหรือเดือดร้อนจริง ๆ ก็ยังมีอีกมากมาย ไม่งั้นคนไทยจะมีปัญหาต้องไปกู้เงินนอกระบบจนมากมายเหรอ เพราะถ้าคนเขาไม่เดือดร้อนจริง ๆ ไม่มีใครอยากไปกู้เงินนอกระบบหรอก

แล้วถ้าเป็นหนี้นอกระบบ หรือหาแทบจะไม่พอกินอยู่แล้ว ถ้ายังต้องมาถูกซ้ำเติมด้วยค่ารักษาพยาบาล เช่น คนไข้ไปตรวจเบาหวาน และความดันสูงตามหมอนัด มีค่ายา ค่าเจาะเลือด อย่างน้อยเดือนละ 1,500 บาท ถ้าต้องร่วมจ่าย 30 % เขาก็ต้องจ่าย 450 บาท

เงิน 450 บาท นี่มากนะครับ สำหรับคนที่เขารายได้แทบไม่พอจะกิน

------------------

ควรนำเงินจากไหนมาใช้ใน สปสช.

จริง ๆ มันมีวิธีที่จะหาเงินมาใช้่ใน สปสช. ได้มากมายหลายวิธี ตัวอย่างเช่น ปฏิรูปภาษีที่ดินให้เป็นแบบก้าวหน้า สำหรับที่ดินรกร้างไม่นำมาใช้ประโยชน์ จะได้เก็บภาษีจากพวกเศรษฐีที่ชอบกักตุนที่ดิน มาช่วยคนป่วยได้อีกเยอะ แถมเป็นการลดความเหลื่อมล้ำและช่องว่างเรื่องฐานะได้อีกทาง

เพราะการกักตุนที่ดิน เป็นบ่อเกิดทำให้ที่ดินราคาแพงเว่อร์ จากการเก็งกำไร แถมเคยเป็นสาเหตุหนึ่งของวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 อีกด้วย

แล้วตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ก็ควรต้องมีตู้รับบริจาค ก็ให้นำตู้รับบริจาคมาเขียนว่า ตู้บริจาคช่วยผู้ป่วยยากไร้ (ก็มักจะมีอยู่แล้วตามโรงพยาบาล)

ตู้แบบนี้ก็จะมีคนมาบริจาคมาก เพราะคนไทยชอบบริจาคมากกว่าจะต้องมาถูกบังคับให้จ่ายเงิน เพราะเขาจะรู้สึกว่า เขาได้บุญและบุญก็จะมาคุ้มครองรักษาญาติพี่น้องของเขาที่มาโรงพยาบาลอีกที คนไทยมักจะเชื่ออย่างนั้น แถมจะได้มากกว่า 30 บาท ที่นโยบายยิ่งลักษณ์พยายามจะให้คนไทยจ่ายอีกด้วย

ส่วนในอนาคต เมื่อเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 10 % แล้ว รัฐก็ควรจะนำภาษีมูลเพิ่มอย่างน้อยสัก 1 % มาเป็นรัฐสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลคนไทยโดยเฉพาะ

และถ้ามีงบเหลือ ก็ควรนำงบไปสร้างโรงพยาบาลดี ๆ เพิ่มขึ้นในระดับอำเภอ เพื่อช่วยให้คนไทยเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมกันได้ง่ายขึ้น

================

รักษาพยาบาลฟรี ไม่ใช่ประชานิยม

ผมขอบอกว่า ระบบประกันสุขภาพและค่ารักษาพยาบาลของประชาชน ไม่ใช่ประชานิยม !!

เพราะการรักษาพยาบาล ถือเป็นรัฐสวัสดิการเพื่อประชาชนทุกคนในประเทศ ที่ทุกประเทศจำเป็นต้องมี เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องให้ประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับได้เขียนไว้

ส่วนนโยบายประชานิยมจริง ๆ คือ นโยบายที่ใช้ล่อหลอกให้คนชอบของฟรี แจกของฟรี (ที่ไม่ใช่ฟรีจริง) อย่างไม่เท่าเทียมกัน เช่น

นโยบายจำนำข้าว ก็ทำให้ชาวนาเป็นเกษตรกรที่ได้รับความช่วยเหลือมากเกินไป เกิดความไม่เท่าเทียมกับอาชีพเกษตรกรประเภทอื่น ๆ และทำให้รัฐต้องขาดทุนเป็นเงินหลายแสนล้านบาท แทนที่จะนำเงินส่วนนี้ไปพัฒนาประเทศด้านอื่น ๆ ได้อีกมาก

นโยบายแจกแท็บเล็ต เด็ก ป.1 ก็เกิดความไม่เท่าเทียมกันกับนักเรียนชั้นอื่น ๆ จนทำให้นักเรียนในชั้นอื่น ๆ ต้องพลอยอดงบประมาณเพื่อซื้อหนังสือใส่ห้องสมุดโรงเรียนทั่วประเทศไปด้วย เพราะนำเงินไปใช้กับแท็บเล็ตจนหมด แถมผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เด็ก ได้วิจัยพบว่า แท็บเล็ตกับเด็กป. 1 มีผลเสียต่อพัฒนาของเด็กป.1 มากกว่าเป็นผลดี

นโยบายคืนภาษีรถคันแรก ก็ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมแก่คนนั่งรถเมล์ที่ต้องมาทนรถติดมากขึ้นก็ต้องทนรับมลภาวะเป็นพิษมากขึ้นนานขึ้น แต่รัฐกลับได้ภาษีน้อยลงจากนโยบายนี้  ทั้ง ๆ ที่มลภาวะเพิ่มขึ้น เพราะรถติดเพิ่มขึ้น ทำให้คนไทยป่วยมากขึ้น ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลมากขึ้น


แต่รัฐสวัสดิการ คือ นโยบายที่ให้ประชาชนมีสิทธิในการเข้าถึงการใช้ประโยชน์สาธารณะขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกันทุกคน ทุกกลุ่มอาชีพ ทุกฐานะ ได้มีสิทธิใช้สิ่งนั้นได้อย่างเท่าเทียมกัน เว้นแต่ใครอยากจะเลือกใช้สิทธินี้หรือไม่


-----------

ฝากถึง พลเอกประยุทธ์ ประธาน คสช. 

หลักประกันสุขภาพเกิดขึ้นในสมัยทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญที่ทำให้คนไทยจำนวนมาก หลงใหลและรักทักษิณมากที่สุด

แม้ความจริงผู้คนเหล่านั้น ไม่รู้หรอกว่า เบื้องหลังความสำเร็จมันเกิดจากหน่วยงานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขช่วยปรับปรุงใด้ระบบ สปสช.ดีขึ้นมาเรื่อย ๆ อย่างยากเย็นมากกว่า

เมื่อทักษิณโยนนโยบายมาให้ข้าราชการแล้ว ก็ไม่ตามรับผิดชอบปรับปรุง เพราะมัวแต่รอตักตวงแพทย์และพยาบาลที่ต้องลาออกจากระบบราชการ เพื่อไปซบโรงพยาบาลเอกชนต่าง ๆ และโรงพยาบาลในเครือทักษิณมากมาย จนโรงพยาบาลเอกชนของไทยหวังให้ไทยกลายเป็นฮับทางการแพทย์เพื่อรองรับผู้ป่วยต่างชาติมารักษาหาเงินเข้าโรงพยาบาลเอกชน ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยยังแพทย์มีไม่เพียงพอกับคนไทยเลย !!!

เพราะในช่วงแรกของ ระบบประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือบัตรทอง ในยุคแรกเริ่มของทักษิณมันชั่งห่วยสิ้นดี แต่ก็ยังดีกว่าที่ไม่มีอะไรรองรับเลย ชาวบ้านเขาคิดอย่างนั้น

ซึ่งในรัฐบาลยุคต่อมาหลังจากนั้น โดยเฉพาะยุครัฐบาลสุรยุทธ กับรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ได้ปรับปรุงพัฒนาระบบประกันสุขภาพให้ดีกว่ายุคเริ่มแรกของทักษิณอย่างมาก โดยเฉพาะโรคเรื้อรังหลายโรคที่ตอนแรก 30 บาทไม่รับเข้าระบบ

ผมเชื่อว่า พลเอกประยุทธ์ และ คสช. คงไม่นำแนวคิดให้ประชาชนร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลมาใช้ เพราะนี่จะทำให้เข้าทางพวกระบอบทักษิณและพวกเสื้อแดง ที่กำลังปล่อยข่าวโจมตี คสช. ในหลาย ๆ เรื่อง เพื่อดิสเครดิต คสช. เพื่อให้ระบอบทักษิณยังเป็นที่รักของพวกเสื้อแดงต่อไป

แต่ที่ผมเขียนบทความนี้ ก็อยากจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเตือน ช่วยคิด เพื่อให้ คสช. ได้ตัดสินใจได้ถูกต้อง เพราะเห็นว่า วันนี้ 31 ก.ค. 57 คสช. กำลังจะมีการประชุมในเรื่องการปฏิรูปหลักประกันสุขภาพ

--------------------

ก่อนจบขอฝากบอกคุณหมอเมธี วงษ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยนายกแพทยสภา ที่ยกตัวอย่างเรื่อง ค่าเฉลี่ยอายุคนไทยต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ในรายการเถียงให้รู้ ตอนร่วมจ่าย นั้น

แล้วคุณหมอเอามาสรุปว่า การรักษาฟรีไม่ได้ช่วยให้คุณสุขภาพคนไทยดีขึ้นนั้น

แค่นี้คุณหมอก็พลาดแล้วครับ คุณหมอคงไม่รู้หรอกว่า ที่อัตราเฉลี่ยอายุคนไทยต่ำกว่าญี่ปุ่นหรือประเทศเพื่อนบ้าน สาเหตุหลัก ๆ คือ คนไทยตายเพราะอุบัติเหตุและตายเพราะอาชญากรรมสูงที่สุดอันดับต้น ๆ ของโลกครับ

ถ้าเอาเฉพาะตัวเลขการตายจากโรคภัยไข้เจ็บ จากก่อนมี สปสช. กับ หลังมี สปสช. แล้ว คุณภาพชีวิตคนไทยดีขึ้นมาตลอดครับ


คนไทยจำนวนมาก ก็มีพฤติกรรมแย่เอง จนต้องกลายเป็นภาระของรัฐ




คลิกอ่าน 30 บาทรักษาทุกโรค ยุคทักษิณห่วยที่สุด

คลิกอ่าน จากลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก สู่ 30 บาทรักษาทุกโรค

คลิกอ่าน เศรษฐาใหญ่ยาว จนยิ่งลักษณฺน้ำแตก (บทความเกี่ยวกับโรงพยาบาล)





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น